อุบลราชธานี 8 ต.ค. -รมว.เกษตรฯ ตรวจสถานการณ์น้ำลุ่มชี-มูล มั่นใจปีนี้ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เหมือนในปี 62 ย้ำกรมชลประทานให้ใช้โมเดลศูนย์ป้องกันและแก้ไขอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล ที่เคยจัดตั้งขึ้นเป็นต้นแบบ สั่งห้ามเครื่องจักร-เครื่องมือเสียระหว่างปฏิบัติงาน อธิบดีกรมชลประทาน ระบุเฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุ 2 ลูก อย่างต่อเนื่อง เผยขณะนี้แม่น้ำโขงมีระดับต่ำ จึงเร่งระบายน้ำมูล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยย้ำว่า ให้เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนอย่างทันท่วงที ประเมินความต้องการและความจำเป็นเพื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร-เครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย โดยห้ามเสียระหว่างปฏิบัติงานเป็นอันขาด รวมถึงบูรณาการทุกหน่วยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้ตรวจสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งอธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,522 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นจะไหลไปออกแม่น้ำโขง ขณะนี้น้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำ โดยขณะนี้มีระดับต่ำกว่าสถานี M7 เกือบ 14 เมตร จึงระบายออกได้เป็นปริมาณมาก
นอกจากนี้ยังสั่งการให้นำต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในปี 2562 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จ. อุบลราชธานี ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ขึ้นมาบริหารจัดการ ทำให้สถานการณ์อุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้ประสานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อย่างใกล้ชิด โดยใช้ข้อมูลแบบ ณ เวลาจริงของจุดตรวจวัดระดับน้ำ ใช้แบบจำลองคาดการณ์ระบบโทรมาตรสำหรับวัดปริมาณและระดับน้ำ เพื่อประกอบการบริหารจัดการจัดจราจรน้ำ ให้น้ำปริมาณสูงสุดของลำน้ำชีและมูลซึ่งไหลมาบรรจบกันที่ จ.อุบลราชธานี ไม่มาในช่วงเวลาเดียวกัน
สำหรับในลำน้ำชี ได้เร่งระบายน้ำโดยยกบานเขื่อนที่อยู่ตามลำน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ-เครื่องผลักดันน้ำตามจุดต่างๆ ส่วนแม่น้ำมูลได้หน่วงน้ำที่จะปล่อยจากเขื่อนทดน้ำได้แก่ เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลจากลำน้ำมูลเข้าสู่สถานี M7 อ.เมืองอุบลราชธานี โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำในลุ่มน้ำชีและมูล 47 เครื่องและเครื่องผลักดันน้ำ 219 เครื่อง โดยเฉพาะที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร ได้เดินเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำมูลด้านท้ายออกแม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น
นายประพิศ กล่าวว่า กรมชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์พายุที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าจะเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณวันที่ 10-11 อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด.- สำนักข่าวไทย