รัฐสภา 15 ก.ย.-คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ใช้เงินกว่าหมื่นล้านบาท เตรียมชงเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาได้เร็วๆ นี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/64 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 หรือประกันรายได้ยางพารา ปีที่ 3 ซึ่งมีหลักเกณฑ์เหมือนปีที่ผ่านมา เริ่มประกันรายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ประกันรายได้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม ประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัมงบประมาณ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,065.68 ล้านบาท ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดําเนินการจัดทํารายละเอียดโครงการ เพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ถือว่าเป็นการเดินหน้าประกันรายได้ยาง ปีที่ 3 ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยางเกือบ 2,000,000 ครัวเรือน และใช้เงินทั้งสิ้น 10,065 ล้านบาท โดยจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีหลักประกันในเรื่องรายได้จากการขายยางตามรายได้ที่ประกัน แม้ในยามที่ราคายางตกลงมาในบางช่วง ขณะนี้ถือว่าราคายางอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะยางก้อนถ้วย เพราะเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรขายยางก้อนถ้วย หรือขี้ยาง ได้ราคากิโลกรัมละ 10-15 บาท แต่ว่าวันนี้ราคายางก้อนถ้วยสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 22-25 บาท โดยประมาณ ซึ่งถือว่าบางช่วงก็สูงกว่ารายได้ที่ประกัน ซึ่งอยู่ที่ 23 บาท
อย่างไรก็ตาม ถือว่าราคายางก้อนถ้วยดีขึ้นมากและทรงตัวอยู่นานแล้ว เป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาง ทั้งภาคใต้และภาคอีสาน และทั่วประเทศ ส่วนราคาน้ำยางที่ตกลงมาบ้างในช่วงนี้ เป็นเพราะมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำยางรายใหญ่ของไทย ประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้โรงงานผลิตถุงมือยางต้องปิดตัวลง และการส่งน้ำยางข้ามแดนติดขัดจากมาตรการล็อกดาวน์ จึงส่งผลให้ราคาน้ำยางตกลงไปบ้าง แต่คาดว่าเมื่อมาเลเซียสามารถแก้ปัญหาโควิดคลี่คลาย โอกาสที่ราคาน้ำยางจะกระเตื้องขึ้นก็มีมาก และโรงงานผลิตถุงมือยางในไทยก็ติดโควิด ทำให้การผลิตไม่สามารถดำเนินการได้เต็มร้อย ความต้องการน้ำยางจึงลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำยางต่อไป.-สำนักข่าวไทย