นนทบุรี 17 ส.ค. – สนค. และ ศอ.บต. เผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 2 ไตรมาสแรกปี 64 ย้ำมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมในพื้นที่ของตน แต่สิ่งที่อยากให้แก้ไขมากที่สุด คือ เรื่องลดภาระค่าครองชีพ ราคาสินค้า การมีงานทำและรายได้ และราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น
พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ร่วมกันแถลงผลการจัดทำ ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต. และ สนค. ในการพัฒนาเครื่องชี้วัดความเชื่อมั่นเชิงพื้นที่ โดยดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 32,000 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตามหรือประเมินผลการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการสำรวจผ่านมาแล้ว 2 ไตรมาส และพร้อมเผยแพร่ผลการจัดทำให้กับผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ผลการจัดทำในครั้งนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้โดยรวมไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ในช่วงเชื่อมั่นที่ระดับ 52.74 ซึ่งมีความเชื่อมั่นทั้งในภาวะปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนั้นยังเชื่อมั่นในทุกด้านเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมในพื้นที่ของตน สำหรับไตรมาสที่ 2 แม้ว่าดัชนีโดยรวมจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.90 แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น โดยเป็นผลจากการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ในขณะที่ดัชนีด้านความมั่นคงปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัดพบว่าในไตรมาสที่ 1 ทุกจังหวัดมีความเชื่อมั่นอยู่ในช่วงเชื่อมั่น สำหรับไตรมาสที่ 2 ดัชนีปรับตัวลดลงในทุกจังหวัด โดยจังหวัดปัตตานีและยะลามีความเชื่อมั่นอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ในขณะที่จังหวัดยะลามีความเชื่อมั่นต่ำที่สุดในทั้งสองไตรมาส เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ประชาชนในทุกจังหวัดมีความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจและสังคมลดลงจากไตรมาสที่ 1 ในขณะที่ด้านความมั่นคงมีความเชื่อมั่นสูงขึ้นในทุกจังหวัดเช่นกัน
นอกจากการสำรวจเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดแดนใต้แล้ว ยังมีการสำรวจประเด็นสำคัญในพื้นที่ โดยในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 นี้ ได้มีการสำรวจประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือของประชาชนในพื้นที่ พบว่า ปัญหามีความคล้ายคลึงกันในทุก ๆ พื้นที่ โดยเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาในระดับมากของทั้งสองไตรมาสยังคงเป็นปัญหาในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เรื่องค่าครองชีพ/ราคาสินค้าและบริการสูง รายได้ตกต่ำ การว่างงาน และปัญหาในด้านสังคม ได้แก่ ปัญหายาเสพติด สำหรับความต้องการที่ประชาชนต้องการให้ช่วยเหลือ/แก้ไขมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เรื่องลดภาระค่าครองชีพ/ราคาสินค้า การมีงานทำและรายได้ และราคาสินค้าเกษตร
สำหรับมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ในพื้นที่ ศอ.บต. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน การส่งเสริมตลาดสินค้าอัตลักษณ์และเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าภาคใต้ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่การเป็นนักการตลาดมืออาชีพยุค New normal การจัดกิจกรรมกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป และเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือเหล่านี้เป็นประเด็นที่ ศอ.บต. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายเรื่องมีการดำเนินการแก้ไขและดูแลไปบ้างแล้ว ขณะที่บางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการที่คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และบางเรื่องอาจต้องใช้เวลาเพราะเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนหรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่ง ศอ.บต. และ สนค. จะทำการสำรวจความเห็นประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครั้งต่อไปในเดือนกันยายนนี้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย