กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – โฆษกแรงงาน ยืนยันกระทรวงฯ ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงกรณีที่เพจเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกล เผยแพร่คลิปการอภิปรายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวพาดพิงถึงกระทรวงแรงงานว่า ต้องเปลี่ยน รมว.แรงงาน ได้แล้ว จากสาเหตุที่ใช้เงินประกันสังคมผิดวัตถุประสงค์ในการเยียวยา
ในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงาน ขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้ ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นมาก่อนว่า กองทุนตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง ยามที่เกิดภาวะวิกฤติ ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ซึ่งการเยียวยาให้กับผู้ประกันตนที่กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการมาตลอดนั้น เป็นการดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยอยู่ในหมวด 8 “ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน” มาตรา 79/1 ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยได้ช่วยเหลือผู้ประกันตนมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นจำนวน 1,194,707 คน เป็นเงิน 16,334 ล้านบาท
นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า กรณีการลดเงินสมทบ เป็นการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในช่วงวิกฤติ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการลดเงินสมทบไป 5 ครั้ง ตั้งแต่ มี.ค.63 – ส.ค.64 เป็นเงิน 88,833 ล้านบาท โดยในกรณีนี้เป็นการช่วยนายจ้างลดต้นทุนการผลิตต่อลูกจ้าง 1 ราย เป็นเงิน 2,652 บาท และเป็นการลดภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตน 4,109 บาท/คน ซึ่งในการลดเงินสมทบนั้น สิทธิประโยชน์ยังเหมือนเดิม
จะเห็นได้ว่า นอกจากจะใช้เงินนี้แล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ช่วยเหลือเรื่องภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยอนุมัติโครงการ ม.33 เรารักกัน ช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท/คน รวมผู้ได้รับสิทธิจากโครงการนี้เป็นจำนวน 8.14 ล้านคน เป็นจำนวนเงิน 48,834 ล้านบาท และ ครม.ยังได้พิจารณาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 มีผล 28 มิ.ย.64 โดยเยียวยานายจ้างและลูกจ้างใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ ก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการบริการด้านอื่นๆ โดยเยียวยานายจ้างในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน (ไม่เกิน 200 คน) มีนายจ้างได้รับการเยียวยา 38,128 ราย เป็นเงิน 1,312 ล้านบาท และให้การเยียวยาลูกจ้างในอัตรา 2,000 บาท/คน มีลูกจ้างได้รับการเยียวยา 603,560 ราย เป็นเงิน 1,207.120 ล้านบาท รวมเงินเยียวยาทั้งสิ้น 2,519.380 ล้านบาท
และในอีกประเด็นที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องกองทุนประกันสังคม คือ รัฐบาลที่ผ่านมาค้างจ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคม เป็นจำนวนเงิน 100,299 ล้านบาท แต่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบลดลงเหลือ 66,647 ล้านบาท แสดงว่าในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดสรรเงินอุดหนุนกองทุนประกันสังคมเต็มตามจำนวนในแต่ละปี และได้ชำระเงินอุดหนุนในส่วนที่ค้างไว้สูงถึง 33,652 ล้านบาท บ่งชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใส่ใจในเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมและผู้ประกันตนทุกคน
“เพราะฉะนั้น การดำเนินการของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ผ่านมา เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนประกันสังคม เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข รวมทั้งแก้ไขสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนและประเทศชาติ มิได้ดำเนินการผิดวัตถุประสงค์แต่อย่างใด” – สำนักข่าวไทย