กรุงเทพฯ 16 มิ.ย.-สรรพสามิต เผยร้านค้ารายย่อย ค้าปลีก น้ำผลไม้ ยังได้รับยกเว้นภาษี ย้ำกิจการทำบรรจุขวดขายส่งให้ร้านค้าทั่วไป ต้องเสียภาษีความหวาน สรรพสามิต
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เข้าทำการจับกุมผู้ขายน้ำส้ม จำนวน 500 ขวด และเรียกค่าปรับเป็นเงิน 12,000 บาท นั้น เป็นการสั่งออเดอร์น้ำส้มคั้นจริง เพราะต้องการทราบว่าการผลิต จำนวน 500 ขวด มีการบรรจุขวด มีตรายี่ห้อ และผลิตในลักษณะขายส่ง และเข้าข่ายการผลิตในลักษณะโรงงานอุตสาหกรรม ตามนิยามของกรมสรรพสามิต ไม่ใช่ นิยามการผลิตสินค้ามากกว่า 50 แรงม้าของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
การผลิตน้ำส้มคั้นแบบบรรจุขวด ติดฉลากบ่งบอกยี่ห้อชัดเจน และทำในลักษณะขายส่งให้กับร้านค้าไปทั่ว เลือกซื้อที่ไหนก็พบเจอยี่ห้อดังกล่าว นับว่าเข้าข่ายต้องจดทะเบียนภาษีสรรพสามิต ตามค่าความหวาน ตามที่กฎหมายกำหนด ที่ผ่านมาได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ประกอบอุตสาหกรรม ซึ่งเสียภาษีอย่างถูกต้อง ระบุว่ามีโรงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เกิดขึ้นหลายแห่ง เจ้าหน้าที่สรรพสามิตจึงได้เข้าตรวจสอบและแนะนำให้จดทะเบียนเสียภาษีอย่างถูกต้องไปแล้ว 4 ราย ส่วนรายที่ 5 ปรากฏเป็นข่าวนั้น เป็นการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานและยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต
“การทำน้ำส้มคั้น ดื่มเอง ขายเองของร้านค้ารายย่อย ค้าปลีกทั่วไป ยังได้รับการยกเว้นภาษี เพราะเป็นผู้ค้ารายย่อย ไม่ได้มีกระบวนการผลิตจำนวนมากในลักษณะขายส่ง หรือทำแบบแฟรนไชส์ หาซื้อที่ไหนเจอได้ในยี่ห้อเดียวกัน การผลิตดังกล่าวต้องจดทะเบียนภาษีสรรพสามิต” โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมา กรมสรรพสามิต ได้ออกมาตรการขยายระยะเวลาบังคับใช้ การจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาล ระยะที่ 3 จากเดิมเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ขยายออกไปอีก 1 ปี เริ่มเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เพื่อลดภาระผู้บริโภคจากการปรับเพิ่มราคา และช่วยผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จากปัญหาโควิด-19 การจัดเก็บภาษีความหวาน บังคับใช้วันที่ 1ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 ยังคงจัดเก็บในอัตราเดิม ได้แก่ เครื่องดื่มปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี เครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.10 บาทต่อลิตร เครื่องดื่ม ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.30 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มปริมาณ น้ำตาล 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่ม มีน้ำตาล 14-18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร ขณะที่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
สำหรับอัตราภาษีความหวาน เริ่มใช้ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2567 มีดังนี้ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 0.30 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 3 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 5 บาทต่อลิตร
ส่วนอัตราภาษีระยะ 4 เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป มีดังนี้ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร เครื่องดื่ม น้ำตาลเกิน 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร.- สำนักข่าวไทย