กรุงเทพฯ 7 มิ.ย. – สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรงต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่กังวลกับสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า เชื่อตลาดหุ้นไทยยังไปต่อได้ คาดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,650 จุด เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากกำไรบริษัทจดทะเบียน ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน และทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงมาก ขณะเดียวกันก็มีแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาช่วยหนุนในครึ่งปีหลัง รวมถึงการบริหารจัดการด้านกระจายวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา และคาดดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2565 จะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ด้วย
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกสามในไทย รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
สำหรับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 SET index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,548.13 —1,593.59 โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรก ตามแรงหนุนของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรป และความคาดหวังที่จะได้จำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นจากการร่วมมือของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหนักในช่วงกลางเดือน เนื่องจากนักลงทุนกังวลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มสูงเกิดคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมถึงอาจลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดการไว้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งปัจจัยในประเทศซึ่งพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่หลายแห่งในกรุงเทพ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันรายต่อวัน การพบไวรัสสายพันธุ์อินเดียในประเทศไทย และความล่าช้าของการกระจายวัคซีน โดยมีปัจจัยบวกคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ SET index ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ปิดที่ 1,593.59 จุด
ทั้งนี้ ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการทยอยเปิดประเทศหลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย การติดตามผลการประชุมธนาคารกลางในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่นและอังกฤษ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย อาทิ มาเลเซีย เวียตนาม
ส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การสรรหาและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ผลการพิจารณา พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้
ทั้งนี้ ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 0.5 ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี คาดการณ์ว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น และการออก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 และความไม่แน่นอนของการฉีดวัคซีนที่อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลงได้เช่นกัน
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ตลาดคาดการประชุม กนง. ในเดือนมิถุนายนนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจาก เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 และ ธปท. ได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจและ SME ต่างๆ ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงลดลง
ขณะที่ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” โดยดัชนีปรับตัวลดลงจากครั้งก่อนจากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจะไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 น่าจะไม่แตกต่างไปจากวันที่ทำการสำรวจ (21 พ.ค. 64) ที่ระดับ 1.06% และ 1.86% ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึง เศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก . – สำนักข่าวไทย