กรุงเทพฯ 1 มิ.ย. – ประธาน สรท. เชื่อมั่นส่งออกยังเติบโตได้ต่อเนื่อง หากไม่มีอุปสรรคเห็นตัวเลขส่งออกโต 2 หลักได้ วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีน นำเข้าตู้เปล่า ลดต้นทุนขนส่ง เพิ่มแรงงานสู่ภาคการผลิต
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ที่ปรึกษา สรท. โดยระบุว่า แม้ตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 21,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 13.09 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 656,592 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 6.93 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 21,246 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 29.79 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 660,063 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.87 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (ส่งผลให้ เดือนเมษายน 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุล 3,470 ล้านบาท แต่การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนเมษายน การส่งออกขยายตัวร้อยละ 25.7
ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค. – เม.ย. ปี 2564 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 85,577 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 4.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 2,564,525 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 1.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 84,879 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 2,580,092 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 10.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 698 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุล 15,567 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – เม.ย. การส่งออกขยายตัว ร้อยละ 11.58
ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตร้อยละ 6-7 โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา มีการนำเข้าพุ่งสูงขึ้นเนื่องด้วยผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงาน ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก โดยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ คือ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศในอาเซียน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าออกไป ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และ Space Allocation แม้ภาครัฐของไทยมีประกาศอนุญาตให้เรือใหญ่ขนาด 400 เมตร เข้ามาในประเทศไทยได้และส่งผลให้มีการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปริมาณตู้เปล่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในการส่งสินค้าให้กับประเทศปลายทางที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับสายเรือยังคงมีการจัดสรรตู้คอนเทนเนอร์ (space allocation) ส่วนใหญ่ให้กับจีนและเวียดนาม เนื่องจากมีความสามารถในการจ่ายค่าระวางในอัตราที่สูงกว่าประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ค่าระวางที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ค่าระวางมีการปรับขึ้นในเกือบทุกเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางสหภาพยุโรป ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 17,000 USD/FEU รวมถึงเส้นทางอื่น เช่น สหรัฐฯ ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องด้วยปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว สถานการณ์ความผันผวนของวัตถุดิบที่สำคัญ ชิปขาดแคลน ส่งผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องชะลอการผลิตเนื่องด้วยจำนวนสินค้าคงคลังที่เริ่มลดลงและ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมทั้งไทย มีแนวโน้มว่าสถานการณ์อาจยืดเยื้อไปถึงไตรมาสที่ 4 สถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่จีนปรับลดกำลังการผลิตเหล็กมากกว่าครึ่ง ทำให้เกิดภาวะ Short Supply ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบเหล็กในการผลิต อาทิ บรรจุภัณฑ์โลหะ (อาหาร/เครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง) การก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล และสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศจำนวนมากและไม่ยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา ซึ่งส่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมาณ 2-3 แสนคน และรวมถึงผลต่อการต้องชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศออกไป
อย่างไรก็ตาม สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ คือ เร่งรัดการฉีดวัคซีนในภาคโลจิสติกส์และภาคการผลิต โดยเฉพาะ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือจุดเสี่ยงที่เป็น Gateway สำคัญของประเทศ เร่งให้มีนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาเพิ่มเติมโดยเร็วและบริหารจัดการ Space Allocation เนื่องปริมาณคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวในระดับสูง และภาคเอกชนไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะส่งออก จึงขอให้ภาครัฐทำการเช่าเรือ เพื่อไปนำตู้สินค้าเปล่าจากประเทศที่มีตู้ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก กลับเข้ามาในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปีอาจเติบโตได้ถึง 10-15% ภายใต้เงื่อนไขประเทศไทยต้องมีตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เฉลี่ยประมาณ 2.01 – 2.25 ล้าน TEU/ปี (หรือ 1.76-2.07 แสนTEU/เดือน) การจัดสรรพื้นที่ (Space Allocation) และค่าระวางอยู่ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้เพียงพอและรองรับต่อการเติบโตของภาคการส่งออก เร่งนำแรงงานเข้าสู่ภาคการผลิต โดยเร่งรัดการหารือเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขรูปแบบการจ้างแบบ Part time ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องของอัตราจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และสวัสดิการที่นายจ้างและลูกจ้างได้ประโยชน์ร่วมกัน และเร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็กในการภาคการผลิต รวมถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้าเป็นต้น . – สำนักข่าวไทย