กรุงเทพฯ13พ.ค.-สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยการใช้พลังงานช่วง 3 เดือนแรกปี 2564 ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากผลโควิด-19 ชี้เดือนมีนาคมการใช้เริ่มขยับสูงขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงาน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถึงแม้ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นและเยียวยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้มีการปรับราคาขายปลีกภายในประเทศสูงขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันของไทย ในช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.)ของปี 2564 ดังนี้
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 67.25 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 24.11 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามเฉพาะเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตในหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงในเดือนมีนาคม 2564 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ย 31.08 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นแก๊สโซฮอล์95 (E10) ส่วนเดือนมีนาคม 2564 การใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า การใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบกอยู่ที่ 6,475 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่สิ้นเดือนมีนาคม มีรถจดทะเบียนสะสมที่อยู่ในระบบทั้งสิ้นประมาณ 41.7 ล้านคัน โดยมีรถจดทะเบียนใหม่สะสมของปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 760,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 โดยกลุ่มดีเซล มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 61 แต่การใช้ลดลงร้อยละ 1.7 กลุ่มเบนซิน มีสัดส่วนการใช้คิดเป็นร้อยละ 32 การใช้ลดลงร้อยละ 1.3 ส่วน NGV มีสัดส่วนการใช้คิดเป็นร้อยละ 4 ลดลงถึงร้อยละ 31.7 และ LPG มีสัดส่วนการใช้คิดเป็นร้อยละ 3ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก การใช้ลดลงถึงร้อยละ 22.4 (จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
นอกจากนี้ มีการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าในสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 6,849 คัน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 419 คัน ซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46 ส่วนราคาขายปลีกไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.64 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV)
ด้านการใช้ไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ 44,759 ล้านหน่วย ลดลงร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงทุกกลุ่มสาขา ยกเว้นเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งการใช้ไฟฟ้าในทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 47 ลดลงร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากเดือนก่อนหน้า สาขาธุรกิจ มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 22 การใช้ลดลงร้อยละ 15.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาขาครัวเรือน มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 26 การใช้ลดลงร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้ของเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า
“สนพ. ยังคงต้องจับตาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยต่อไป” นายวัฒนพงษ์ กล่าว-สำนักข่าวไทย