กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – เรื่องจริง! MEA เผยผลทดสอบแอร์ ยิ่งอากาศร้อน ยิ่งกินไฟมากขึ้น
นายจุมภฎ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยถึงผลการทดสอบอัตราการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ ในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ใช้พลังงานสูงขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 14
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร MEA กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีที่จะมีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญ เกิดจากเครื่องปรับอากาศที่ต้องทำงานหนักในสภาวะแวดล้อมภายนอกที่มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ เป็นการวัดผลการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในสภาพอุณหภูมิที่แตกต่างกัน โดยการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ได้มาตรฐาน ขนาด 12,000 BTU ตั้งค่าเครื่องปรับอากาศให้มีอุณหภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และวัดผลการใช้ไฟฟ้าในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้องมีการตั้งค่าไว้ที่ 35 และ 41 องศาเซลเซียส
จากผลการทดสอบ พบว่า การตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีอุณภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง จะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.69 หน่วยต่อชั่วโมง แต่หากอุณหภูมิภายนอกห้องเป็น 41 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง เครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือกล่าวได้ว่า เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น 6 องศาเซลเซียส เครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 14
ทั้งนี้ จากผลการทดสอบดังกล่าว หากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท จะพบว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่ การใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 3.08 บาทต่อชั่วโมง
จากค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกัน หากสมมติการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน นาน 30 วัน จะพบว่า การใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 646 บาท และการใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 739 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าเดิม 93 บาทต่อการใช้เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง
อย่างไรก็ตาม การคิดค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการคิดค่าไฟฟ้าในรูปแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งจะมีการคิดค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้น การคำนวณค่าไฟฟ้าในรูปแบบที่ยกตัวอย่างดังกล่าว จึงอาจต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่ง MEA ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้า มีข้อแนะนำวิธีการใช้เครื่องปรับอากาศในช่วงฤดูร้อน คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าควรตั้งค่าเครื่องปรับอากาศขั้นต่ำที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส รวมถึงควรดูแลเครื่องปรับอากาศ ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานและปลอดภัยอยู่เสมอ ตลอดจนการเปิดพัดลมแทนการปรับอุณหภูมิให้ลดต่ำลง ก็จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า และช่วยลดโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเกิดมลภาวะทางอากาศ PM2.5 อีกด้วย . – สำนักข่าวไทย