กระทรวงการคลัง 29 มี.ค.- กระทรวงการคลังระบุ เริ่มมีสัญญาณบวกหนุนเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก สถานการณ์โควิดคลี่คลายจากวัคซีนเริ่มกระจายหลายพื้นที่ ภาคเอกชนเริ่มลงทุน
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ การจำหน่ายรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 12.3 และ 0.6 จากเดือนก่อนหน้าหดตัว สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.7 ต่อปี เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 49.4 จากระดับ 47.8 ในเดือนก่อนหน้า เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ เริ่มคลี่คลายลง และขณะนี้ มีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน COVID -19 ภายในประเทศกระจายหลายพื้นที่มากขึ้น
โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวร้อยละ 18.6 ต่อปี ภาคการก่อสร้าง สะท้อนจากยอดขาย ปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี เพราะความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ที่สำคัญมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขยายตัวร้อยละ 4 ต่อปี จากยอดขายสินค้าเกษตรและอาหาร การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำและสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงลดลง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 19.7 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย จีน และเอเชียใต้ ขยายตัวที่ร้อยละ 18.3 15.7 และ 13.9 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงลดลงที่ร้อยละ -11.8 ต่อปี
สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจจำนวน 5,741 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน จึงต้องติดตามดูว่ายอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้นอย่างไร โดยหลายปัจจัยบวกครั้งนี้ นับเป็นแรงขับเคลื่อนจีดีพี นอกจากการเยียวยาระยะสั้นผ่านโครงการ เราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน ขณะนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีในปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 2.8 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดการณ์ร้อยละ 4 จึงต้องติดตามอีกหลายปัจจัยอย่างใกล้ชิด
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ร้อยละ 0.04 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 มีสัดส่วนร้อยละ 52.0 ต่อจีดีพี ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระดับสูง 253,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ.-สำนักข่าวไทย