คปภ.โปรโมท “ประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล” รองรับไลฟ์สไตล์สังคมยุคดิจิทัล

กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – คปภ.โปรโมท “ประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล” รองรับไลฟ์สไตล์สังคมยุคดิจิทัล ตอบโจทย์ธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต และนักช้อปออนไลน์


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ เพื่อช่วยบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น โดยการสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการที่ตอบโจทย์ทุกมิติความเสี่ยงและความต้องการ รวมถึงกำลังซื้อของประชาชน ตลอดจนช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงได้อย่างสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบการชำระเงินแบบอีเพย์เมนต์ (E-Payment) และระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ทำให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินและทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตแบบใหม่ในยุคดิจิทัล เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ หากเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายจากการใช้บริการทางอินเทอร์เน็ตและการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สำนักงาน คปภ. ขอแนะนำประชาชนให้นำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงกรณีเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายดังกล่าว โดยนายทะเบียนประกันภัยได้เห็นชอบแบบ ข้อความและอัตราเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล ของบริษัทประกันวินาศภัยไปแล้ว จำนวน 5 บริษัท ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันภัยและความคุ้มครองที่เลือกซื้อ โดยมีเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 200 บาท จนถึง 1,000 กว่าบาท/ปี และหลายบริษัทอยู่ระหว่างจัดแผนประกันภัยให้สามารถเลือกซื้อได้


ความคุ้มครองแบบที่ 1 การถูกโจรกรรมเงินทางอินเทอร์เน็ต ที่เกิดจากการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล หรือการถูกโจมตีแบบฟิชชิ่ง โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเงิน หรือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 2 การถูกกรรโชกทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ต โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเงินเรียกค่าไถ่ที่สูญเสียไป หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 3 การถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต โดยกระทำจากบุคคลภายนอก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาทางจิตวิทยา ตามหลักฐานที่เกิดขึ้น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้


ความคุ้มครองแบบที่ 4 การถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ต โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีตามหลักฐานที่เกิดขึ้นและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 5 การคุกคามทางอินเทอร์เน็ต โดยกระทำจากบุคคลภายนอก บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น ดังนี้ 1) ค่าใช้จ่ายในการกู้ข้อมูลหรือการล้างข้อมูลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล 2) ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนฮาร์ดแวร์บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล 3) ค่าใช้จ่ายในการกู้ข้อมูล หรือการล้างข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีการติดตั้งระบบการควบคุมและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 6 การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรณีถูกหลอกลวงให้สั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตและชำระเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขายแล้ว แต่ผู้ขายไม่จัดส่งสินค้าให้ภายในเวลาที่กำหนด บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำนวนเงินที่ได้ชำระให้กับผู้ขาย เพื่อซื้อสินค้าดังกล่าวตามใบเสร็จ และไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 7 การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรณีถูกหลอกลวงให้ขายและได้มีการจัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว แต่ไม่ได้รับเงินค่าสินค้าภายในเวลาที่กำหนด บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำนวนเงินที่ไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวตามใบเสร็จและไม่สามารถเรียกร้องได้จากผู้รับผิดชอบจากแหล่งอื่น แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

ความคุ้มครองแบบที่ 8 ความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก อันเกิดจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ต บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย สำหรับจำนวนเงินที่ต้องรับผิดตามกฎหมายตามหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้

“แม้ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ส่วนบุคคล จะสามารถบริหารจัดการเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชน หากเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายแล้วอาจจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมา การทำประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล จึงเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของประชาชนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย. – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เครื่องบินภูเก็ตมุ่งหน้ามอสโก ขอลงจอดฉุกเฉินที่สุวรรณภูมิ

เที่ยวบิน 777-300ER สายการบิน Aeroflot ขึ้นจากภูเก็ตไปมอสโก เตรียมลงสุวรรณภูมิ หลังบินวนกลางทะเลอันดามันหลายชั่วโมง จากปัญหาระบบลงจอดขัดข้อง

ไข้หวัดใหญ่ระบาด

ไข้หวัดใหญ่ระบาดในสหรัฐ-เสียชีวิตแล้ว 13,000 ราย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือซีดีซี รายงานว่า พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลนี้อย่างน้อย 24 ล้านคนแล้วทั่วสหรัฐ

ตัดไฟเมียนมา

มาตรการตัดไฟเมียนมาได้ผล กลุ่มเว็บพนันปลดพนักงานแล้วกว่าร้อยคน

มาตรการตัดไฟเมียนมาได้ผล กลุ่มเว็บพนันออนไลน์และกลุ่มสแกมเมอร์ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ปลดพนักงานแล้วกว่า 100 คน เนื่องจากขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ทำให้พนักงานทยอยเดินทางออกจากท่าขี้เหล็ก กลับมาทางด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย อย่างต่อเนื่อง

ข่าวแนะนำ

เข้มทางบก แก๊งลักลอบเข้าเมือง หนีไปทางน้ำ

หลังมาตรการ Seal Stop Safe ชายแดนของรัฐบาล ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 30 มกราคม เพื่อเข้มงวด ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดตามเส้นทางต่างๆ พบขบวนการลักลอบเข้าเมืองด้านชายแดนกาญจนบุรี ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือ เมืองพญาตองซู ของเมียนมา เลี่ยงไปใช้เส้นทางน้ำแทน

ทองไทยใกล้เป้าหมายบาทละ 5 หมื่น

ทองไทยเข้าภาวะกระทิง เปลี่ยนแปลงคึกคักวันนี้ (11 ก.พ.) ปรับเปลี่ยน 27 รอบ เข้าใกล้ 48,000 บาทต่อบาททองคำ มองเป้าหมายถัดไปที่ 50,000 บาทต่อบาททองคำ ด้านสภาทองคำโลก ชี้การซื้อทองเป็นการลงทุนมากกว่าการใช้เป็นเครื่องประดับ ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่แข็งแกร่งในปี 67 สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก