กรุงเทพฯ 10 มึ.ค. – ผู้บริหาร บีทีเอส ระบุกำลังพิจารณา อุทธรณ์การจำหน่ายคดี ข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไปยังศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน
นายสุรพงษ์ เลาหอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส. พร้อมด้วย พันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัทบีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) เปิดแถลงข่าวเรื่องการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี เพื่อให้ข้อมูลถึงปัญหา การประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงดังกล่าว หลังจากเมื่อวานที่ผ่านมา นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเพื่อแจ้งให้ทราบว่าศาลปกครองกลางได้ทำหนังสือถึง รฟม. แจ้งให้ทราบว่าศาลได้มีการจำหน่ายคดี ข้อพิพาทแล้ว จึงไม่เป็นเหตุให้ รฟม. ต้องชะลอการเดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนรอบใหม่ ตามที่บีทีเอส. ได้ทำหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตรวจสอบ ข้อพิรุธในการยกเลิกการประมูลรอบแรก
โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณันี้บีทีเอสเตรียมที่จะเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาว่า จะมีการอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี ไปยังศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดยบีทีเอสจะมีการพิจารณาอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม บีทีเอสมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาล ภายใน 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนประเด็น คำถามว่าบีทีเอส จะ เข้าร่วมการประมูลรอบใหม่หรือไม่นั้น ก็จะเป็นประเด็นที่กรรมการบริหารบริษัทฯ จะพิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง โดยจะพิจารณาหลังจาก รฟม. ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์’ ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนฯ หรือ RFP ออกมาอีกครั้ง
ส่วนประเด็นคำถามว่าปัญหาข้อพิพาทโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เกิดขึ้นนี้ เกี่ยวพันกับปัญหาข้อขัดแย้งในเรื่องของการขยายระยะเวลาสัมปทานและปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่นั้น นายสุรพงษ์ กล่าว ยืนยันว่า ประเด็นดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทางนั้น ก็อยู่ในการกำกับดูแลต่างหน่วยงานหรือต่างกระทรวงที่กำกับดูแล
ด้านพันตำรวจเอกสุชาติ ได้เปิดเผยถึงข้อกฎหมายที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในเรื่องนี้ โดยยืนยันว่า รฟม. ไม่มีอำนาจตามกฏหมายใดๆรองรับ ให้มีการยกเลิกการประกวดราคาในรอบแรกได้ ส่วนคำถามว่าบีทีเอส. จะร่วมประมูลรอบสองหรือไม่นั้น พันตำรวจเอกสุชาติ ระบุว่า หากพิจารณาปัญหาดังกล่าว ซึ่งบีทีเอส.เห็นว่าคณะกรรมการฯ ที่เคยดำเนินการประกวดราคาในรอบแรก มีข้อพิรุธไม่มีความเป็นธรรม ในการพิจารณาผลการประกวดราคาของโครงการฯ ก็อยากถามย้อนกับสื่อมวลชนว่า ยังเข้าร่วมประกวดราคาดังกล่าวหรือไม่
ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายหลังจากนี้ยืนยันว่า นอกจากการอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว ก็ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการต่อ ไม่ว่าเป็นการเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายแก่บีทีเอส รวมทั้งการดำเนินคดีอาญา ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ. ปฎิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กับคณะกรรมการตามมาตรา 36 และผู้บริหาร รฟม. ซึ่งในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ต้องไปติดตามว่าศาลจะประทับรับฟ้องหรือไม่-สำนักข่าวไทย