กรุงเทพฯ 3 มี.ค.- กอช. จับมือ สพฐ. ส่งเสริมวินัยการออม ให้ผู้บริหารระดับสูง ครู นักเรียน ปลูกฝังการออมให้นักเรียน อายุ 15 ปีขึ้นไป สมัครเป็นสมาชิก กอช. ครอบคลุม 1 ล้านคนทั่วประเทศ “อาคม” รับลูกพร้อมแก้ไขกฎหมายสร้างแรงจูงใจ เยาวชน ประชาชนออมเงินรองรับสังคมผู้สูงอายุ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออม ระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับ สพฐ. สำหรับผู้บริหารระดับสูง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมการออมในกลุ่มนักเรียนอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ภายใต้สังกัด สพฐ. และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ หวังให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทุกเขตทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการออมในระยะยาว ยอมรับว่าไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 64 มีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากร และในปี 2574 มีสัดส่วนร้อยละ 28 นับว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสูงสุด
ทั้งนี้ ยอมรับว่า คนไทยประมาณ 20 ล้านคน ยังไม่เข้าสู่ระบบการออม ขณะที่ กอช. มีสมาชิกสะสมการออมแล้ว 2.4 ล้านคน ต้องหาทางดึงคนไทยผู้มีอาชีพอิสระเข้าสู่ระบบการออมเพิ่มขึ้น กระทรวงคลัง จึงพร้อมสนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย กอช. เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจในการส่งเงินสมทบ และขยายเวลาการออมออกไปเป็น 65 ปี และอีกหลายเงื่อนไข รวมทั้งร่วมผลักดันให้เป็นไปตาม แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้มีชีวิตมั่นคงหลังเกษียณ และต้องการย้ำสมการชีวิต รายได้-ออมเงิน = การใช้จ่าย เมื่อมีรายได้แล้วควรเจียดเงินนำมาสะสมการออม ก่อนนำไปใช้จ่าย
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พร้อมส่งเสริมให้สถาบันการศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ ร่วมอบรมให้ความรู้ด้านวางแผนการออมเงินแก่ผู้อำนวยการ ครู และอาจารย์ในโรงเรียนทุกเขตทั่วทั้งประเทศ ตระหนักถึงวิธีการวางแผนทางการเงิน การออมเงิน เทคนิคการบริหารจัดการเงิน ขณะนี้มีนักเรียนในสถานศึกษาอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เกือบ 1 ล้านคน เพื่อให้น้องๆนักเรียน เริ่มวางแผนออมเงินวันละ 1 บาท พอมีเงินครบ 50 บาท สามารถนำมาออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยรัฐบาลสมทบเงินให้ 50% ของเงินออม คิดเป็นเงิน 25 บาท สูงสุด 600 บาทต่อปี จึงรพ้อมพร้อมส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) นำมาใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษา
น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการออมเงิน เปิดโอกาสให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เข้าร่วมออมเงินกับรัฐบาลเพื่ออนาคต โดยทุกครั้งที่สมาชิกส่งเงินออมสะสม รัฐบาลจะเติมเงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุ โดยอายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี โดยอายุ >30 – 50 ปีรัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อปี อายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กอช. เปิดดำเนินการมาแล้ว 5 ปี จำนวนสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 2.4 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2564) โดยสมาชิก กอช. ที่มีช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 30 ปี มีจำนวนเพียง 354,810 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.81 จากสมาชิก กอช. และคิดเป็นร้อยละ 4 ของกลุ่มเป้าหมายประชากรไทยที่มีอายุ 14-24 ปี ที่มีจำนวนอยู่เกือบ 9 ล้านคน (ข้อมูลสถิติประชากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ภายใต้สังกัด สพฐ. ได้รู้จักการออมเงินเพื่ออนาคต และสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันหลังเกษียณเป็นรายเดือน และสร้างความมั่นคงทางการเงินในชีวิต ให้มีกินมีใช้ในอนาคต เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาทต่อครั้งต่อปี โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้อีกครึ่งหนึ่งของเงินออม ไม่เกิน 600 บาทต่อปี และนำเงินออมของสมาชิกไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งออมเร็วยิ่งดี เมื่อเรียนจบได้ทำงานในระบบ หรือรับราชการ สถานะการเป็นสมาชิกยังคงอยู่ ออมต่อได้เรื่อยๆ จนอายุครบ 60 ปี พร้อมรับเงินสมทบเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุของสมาชิก ตาม พ.ร.บ. กอช. และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กอช. จ่ายเงินบำนาญรายเดือนให้กับสมาชิก .-สำนักข่าวไทย