กรุงเทพฯ 4 ก.พ. – “อาคม” ยืนยันไทยมีวัคซีนฐานะการคลังเข้มแข็ง รองรับปัญหาไวรัสกระทบเศรษฐกิจ ย้ำหนี้สาธารณะ/จีดีพี ร้อยละ 50 ยังต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ในเวทีสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ว่า รัฐบาลต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติในยุคโควิด-19 เมื่อไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน การผลักดันให้จีดีพีโตร้อยละ 1 ต้องใช้พลังอย่างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านรัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานรายได้ลดลง แต่ไทยยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง 2.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงถึงความมั่นคงของประเทศ และมีกำลังในการชำระหนี้ระยะสั้นได้
ในส่วนของฐานะทางการคลัง ได้รักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด ทั้งการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการหารายได้ภาษีทั้งภาครัฐแลเอกชน เมื่อต้องเงิน ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จึงทำให้สัดส่วนหนี้สาธาณะต่อจีดีพีสูงร้อยละ 50 จากเพดานกำหนดไว้ร้อยละ 60 นับว่ายังต่ำกว่าอีกหลายประเทศพัฒนาแล้ว มีสัดส่วนหนี้สาธารณะร้อยเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เพราะทุกประเทศทั่วโลกขณะนี้ต้องใช้เงินกู้ และมีนโยบายผ่อนปรน มาฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในของตนเอง จึงนับว่าไทยยังมีวัคซีนทางพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด มุ่งช่วยเหลือทั้งภาคเกษตร แรงงาน ผู้ค้ารายย่อย ผ่านโครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการ เราเที่ยวด้วยกัน ภาคแรงงานประกันสังคม ม.33 รวมกว่า 40 ล้านคน เมื่อรัฐบาลได้ยืดการชำระหนี้ของแบงก์รัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยลดภาระให้กับประชาชน ขณะที่รัฐบาล ยังต้องเร่งรัดเดินหน้าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แม้จะมีปัญหาไวรัสโควิด แต่การลงทุนชะลอไม่ได้ เพราะธนาคารโลกยังให้ความเห็นว่าการลงทุนภาครัฐของไทยยังต่ำอยู่ รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าผลักดันการพัฒนาในเขตอีอีซี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ผ่านการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน การสร้างสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาตาพุด เพื่อเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจงการวิจารณ์ฐานะการคลัง ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันส่งสัญญาณดีขึ้น จากรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2563 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ และอุปสงค์ในประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุด สำนักข่าว Bloomberg ได้ประเมินมุมมองอนาคตเศรษฐกิจของไทยปี 2564 ว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจเป็น อันดับ 1 ใน 17 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economies) เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ไทยเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรก (อันดับที่ 9) ของประเทศที่มีระบบรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูง นับว่าระบบสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิภาพสูง
ส่วนของการจัดเก็บรายได้รัฐบาล เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2557-2563 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.07 ล้าน ล้านบาท เป็น 2.391 ล้านล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดในปี 63 รายได้จึงลดลง
สำหรับเงินคงคลัง ยังเพียงพอรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาท มากกว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5 หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 8.1 ล้านล้านบาท เท่ากับร้อยละ 52.1 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ไม่เกินร้อยละ 60 ขอจีดีพี
อย่างไรก็ดี หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำที่สุดในปี 2563 แล้ว และได้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้นตามลำดับ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวัคซีนมาใช้ในปี 2564 นี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจ ค่อย ๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็จะมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเร่งผลักดันและแก้ไขเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ ให้กลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเร็ว . – สำนักข่าวไทย