กรุงเทพฯ 12 ม.ค. – สมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ให้ช่วยพักชำระค่างวดรถอย่างน้อย 3-6 เดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จนทำให้มีจำนวนผู้โดยสารลดลง บางเที่ยวมีผู้โดยสาร 1-2 คนเท่านั้น
นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล พร้อมสมาชิกเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบหนังสือ โดยนายปัญญากล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 1 ที่ให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งเป็นรถร่วมบริการขึ้นตรงกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีประมาณ 2,500-3,000 คัน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากผู้โดยสารลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องทุกเส้นทาง
โดยหากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ในการระบาดรอบแรก และสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทำให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการอีกครั้งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 หรือมากกว่า 60,000 คนต่อวัน แต่เมื่อมีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ปัจจุบันผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ร้อยละ 20 หรือประมาณไม่ถึง 1,000 คนต่อวัน โดยประชาชนจำนวนมากมีความกังวลการระบาด, รัฐบาลเข้มงวดมาตรการป้องกันโควิด-19 จึงขอความร่วมมือถ้าไม่จำเป็นให้งดเดินทางข้ามจังหวัด ให้ทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้ตอนนี้มีการเดินทางเฉพาะช่วงเช้าเวลา 07.00 – 08.00 น. และ ช่วงเย็น 17.00-18.00 น. เท่านั้น ขณะที่บางเส้นทางวิ่งได้เที่ยวเดียวต่อวัน
ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาพักชำระค่าเช่าซื้อรายเดือนกับสถาบันการเงินทุกแห่ง เป็นเวลา 3-6 เดือน เพราะจะต้องส่งค่างวดประมาณ 24,000 บาทต่อเดือนต่อคัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ เพราะครั้งที่โควิด-19 ระบาดรอบแรกรัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือในการพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย. – มิ.ย.63) จึงหวังว่ารัฐบาลจะช่วยผู้ประกอบการรถตู้อีก เพราะถ้าหากไม่ได้รับการพักชำระหนี้ทำให้ผู้ประกอบการรถตู้ต้องส่งรถกลับคืนให้กับบริษัทไฟแนนซ์และสถาบันการเงินต่อไป ซึ่งหลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและสถานการณ์กลับมาปกติ ผู้โดยสารกลับมาใช้ชีวิตเดินทางเหมือนเดิมจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่มีรถตู้ไม่เพียงพอต่อบริการ . – สำนักข่าวไทย