กรุงเทพฯ 6 ม.ค.- คณะกรรมการ SEA โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ไม่ฟันธง โรงไฟฟ้าเกิดได้หรือไม่ ด้าน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชี้คาดเกิดยาก ค้านกระแสเทรนด์โลกที่มุ่งสู่ ไฟฟ้าสีเขียว
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรรมการในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการ SEA จะไม่สรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ควรจะเกิดหรือไม่ จะเป็นการนำผลการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ที่ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เสนอให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกอบการพิจารณาในระดับนโยบายต่อไป โดยคาดว่าจะเสนอได้ภายในไตรมาสแรกปี 2564 โดยล่าสุด นิด้า มีการรวบรวมความเห็นจากการเปิดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคใต้ 10 พื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งพบว่ามีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน
นายธรณ์ กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวหากพิจารณาตามทิศทางหรือเทรนด์ของโลกโรงไฟฟ้าจะมุ่งเน้นไปยังเชื้อเพลิงที่สะอาดมากขึ้นโดยเฉพาะพลังงานสีเขียว (Green Energy) และรวมถึงก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าโลกจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าทั้งโลกลดลงแต่พลังงานสีเขียวกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่สิ่งที่ลดลงคือไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะน้ำมัน ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีอายุเฉลี่ย 30 ปีแต่เมื่อเทรนด์พลังงานสีเขียวขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องย่อมทำให้นักลงทุนต้องมองปัจจัยเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้นการลงทุนจึงไม่ง่ายนัก
นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเทพา กล่าวว่า วันที่ 12 ม.ค.นี้จะมีการหารือของคณะกรรมการ SEA กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อที่จะนำความเห็นทุกฝ่ายมาสรุปให้ชัดเจนโดยเน้นตอบโจทย์หลัก 4ด้านทั้ง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและ สุขภาพชุมชน ซึ่งจุดยืนของกลุ่มยังคงหนุนให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาเนื่องจากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่-สำนักข่าวไทย