กรุงเทพฯ 4 ม.ค.-“อรรถพล” ซีอีโอ ปตท. พร้อมรับมือ โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ดูแลความมั่นคงพลังงานและความลอดภัยพนักงงาน พร้อมเร่งแผนลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่ม ปี 64 พร้อมลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท และแผน 5 ปี พร้อมลงทุน 1 ล้านล้านบาท
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเจรจา ในด้านธุรกิจ ด้าน Life science ในต่างประเทศ 1-2 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนในการตกลงว่าจะเข้าร่วมทุนในไตรมาส 1/64 หลังจากได้ จัดตั้งบริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จํากัด ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จํากัด (บริษัทย่อยของ ปตท.) เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการลงทุนในธุรกิจยาในต่างประเทศ ตามกลยุทธ์การลงทุนใน New business ของ ปตท. รวมทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพความสามารถของ ปตท. ในด้าน Life science ด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563
“ธุรกิจ Life scienceเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่ ปตท.จะเพิ่มฐานธุรกิจรับเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในส่วนของผู้บริหารก็จะจัดจ้างมืออาชีพเข้าร่วมดำเนินงาน โดยธุรกิจนี้ มีทั้งธุรกิจ ยา ,สารอาหารและเครื่องมือ อุปกรร์ทางการแพทย์ ที่สามารถต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีที่ กลุ่ม ปตท.มีฐานผลิตอยู่แล้ว” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. เตรียมแผนรองรับ การระบาด โควิด-19 รอบใหม่ ดูสานต่อจากแผนเดิมที่ดำเนินการไว้ในปี 2563 โดย กลุ่ม ปตท.มีความพร้อมทั้งด้านการดูแลพนักงาน และมีความพร้อมปฏิบัติงานตามที่ต่างๆให้ การเดินหน้าผลิต เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด แต่ในส่วนของความต้องการใช้พลังงานของประเทศ จะลดลงมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับทิศทางการระบาดจะเป็นเช่นไร โดยยอมรับว่า ในช่วงล็อกดาวน์ รอบที่แล้ว เดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ความต้องการลดลงไปมาก และก่อนที่จะระบาดรอบนี้ ความต้องการใช้โดยเฉพาะน้ำมันก็กลับมาใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่ง ขณะนี้ กลุ่ม ปตท.ก็ได้ตามติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากผลล็อกดาวน์ 63 จากผลกระทบโควิด-19 ก็ทำให้ยอดขายลดลงราวร้อยละ 8 และผลดำเนินงานในส่วนรายได้ ยังขึ้นกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก แต่เป็นเรื่องที่ดีที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.มีฐานต้นทุนการผลิตต่ำ เฉลี่ยประมาณ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ คาดการณ์กันว่า ราคาน้ำมันดิบปี 64 จะเคลื่อนไหวราว 50 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเงื่อนไข ก็อยู่ที่ความร่วมมือของกลุ่ม โอเปก พลัส จะจำกัดการผลิตมากน้อยเพียงใด และหากวัคซีน โควิด-19 สามารถนำออกมาใช้คุมสถานการณ์ได้ทั่วโลก ราคาน้ำมันก็อาจจะสูงขึ้น แต่ก็คาดว่าจะไม่สูงมากไม่พรวดพราดไปถึงระดับ 70-80 เหรียญ/บาร์เรล แน่นอน
ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปี64 ทิศทางราคาก๊าซฯในอ่าวไทยลดลงจากต้ทุนที่ผันแปรตามทิศทางน้ำมันดิบย้อนหลัง ในขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ก็มีรูปแบบเช่นกัน ราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลก ความต้องการใช้หากลดลงก็มีผลต่อยอดผลิต หากมียอดผลิตเหลือก็ต้องบริหารจัดการเช่น ส่งออกเป็นต้น
สำหรับการลงทุน เพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ในปี 2564 ทาง กลุ่ม ปตท.มีแผนลงทุนในโครงการที่ได้อนุมัติแล้วรวมทุกบริษัท 2.6 แสนล้านบาท เป็นส่วนเฉพาะ ปตท. 76,399 ล้านบาท และยังมีโครงการPROVISION หรือ ศึกษาเตรียมพร้อมที่จะลงทุนรวมทั้งกลุ่ม ปตท.อีกรวม 3 แสนล้านบาท โดยทั้ง 2 แผนงานก็จะต่อเนื่องจากธุรกิจฐานของ กลุ่ม ปตท. และ สร้างแพลทฟอร์มในธุรกิจใหม่ เพื่อเป็น NEW S-CURVE ให้กับประเทส รวมทั้ง เดินหน้าจ้างงานใหม่ในระยะสั้น-ยาว อีก 2.6 หมื่นตำแหน่ง ภาพรวมก็เป็นไปตามเป้าหมายโครงการ Restart Thailand ของกลุ่ม ปตท. ในขณะที่ แผนลงทุน 5 ปี ( 64-68 ) กลุ่ม ปตท. มีแผนลงทุนที่ชัดเจนรวม 8.4 แสนล้านบาท เป็นส่วนเฉพาะ ปตท. 179,072 ล้านบาท และเมื่อรวมกับPROVISION ปตท.จะมีเงินลงทุน 5 ปี ราว5.1 แสน ล้านบาท ทั้งนี้ แผนลงทุน 5 ปีของ กลุ่ม ปตท.ที่เดินหน้าชัดเจน เช่น โครงการ CFPของ บมจ.ไทยออยล์ 74,263 ล้านบาท โครงการ โรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 7 ราว 17,775 ล้านบาท โครงการสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจี- หนองแฟบ 21,513 ล้านบาท และ โครงการสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจีมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 3,248 ล้านบาท
“ กลุ่ม ปตท.ลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจและขยายไปสู่ ธุรกิจใหม่ ทั้ง พลังงานทดแทน 8,000 เมกะวัตต์ ในอนาคต และ Life science นับเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท.เจอการเปลี่ยน แปลงมามากพอสมควร ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายวิกฤติ ทั้ง ต้ำยำกุ้ง ,แฮมเบอร์เกอร์, เชลล์ออยล์-เชลล์ก๊าซ และรอบนี้ โควิด-19 ทางกลุ่มมีแผนรับมือรับการเปลี่ยนแปลง และยังยืนยันว่าจะรักษาระดับเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นที่ ร้อยละ 40-50 เช่นเดิม “นายอรรถพล กล่าว -สำนักข่าวไทย