กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. – สคร.ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 อย่างใกล้ชิด
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สิ้นเดือนตุลาคม 2563 การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ สคร.กำกับดูแล 44 แห่ง ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (ม.ค.-ต.ค.63) จำนวน 10 แห่ง มีผลเบิกจ่ายสะสม 102,389 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของกรอบลงทุนสะสม การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจ ปีงบประมาณ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 จำนวน 34 แห่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว 1 เดือน มีผลเบิกจ่าย 8,290 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 103 ของกรอบลงทุนสะสมและการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง มีผลเบิกจ่ายสะสมจำนวน 102,389 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของกรอบลงทุนสะสม
นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน ซึ่งมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 – ตุลาคม 2563 จำนวน 102,389 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสมโดยผลการเบิกจ่ายงบลงทุนส่วนใหญ่มาจากรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคง โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่างเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง
สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปี 2564 ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 ของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณซึ่งมีผลการเบิกจ่ายสะสม 1 เดือน สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 8,290 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุน โดยรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย อาทิ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ติดประเด็นทางเทคนิคและดำเนินการล่าช้ามาอย่างต่อเนื่องที่ สคร.ยังคงต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 1 โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้ดีกว่าเป้าหมาย ได้แก่ แผนงานปรับปรุงท่อเพื่อลดน้ำสูญเสีย แผนงานปรับปรุงระบบท่อประปาเพื่อเสถียรภาพของระบบจ่ายน้ำของการประปานครหลวง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม–มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย