ระยอง 9พ.ย. – ปตท.เดินหน้าปรับพอร์ตลงทุน ขยายไปธุรกิจยา รถอีวี แต่ยังรักษาฐานปิโตรเลียมให้แข็งแกร่ง ทุ่มหมื่นล้านบาท ผุดตั้งโรงแยกก๊าซแห่งที่ 7 เริ่มก่อสร้างปีหน้า
นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.เดินหน้าปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่เติบโต สอดคล้องกับแนวโน้มระยะยาวโดยทำแผนปี 64 – 73 ทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ของธุรกิจปิโตรเลียมในปัจจุบันมุ่งเน้นการสร้างความร่วมถือเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น, การลงทุนใน New Energyเช่นพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น Storage/Grid Network, Smart Energy Platform และ EV Charging Station, การลงทุนใน New Business เพื่อหาโอกาสในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีแนวโน้มเติบโต หรือมีศักยภาพในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน, ลงทุนเพื่อสังคม และลงทุนเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับ New Business เช่น ธุรกิจ Life Scienceกำลังเจรจา โรงงานผลิตยาในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มโซนเอเชียก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 64 หลังจากที่ในประเทศ ปตท.ได้มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) จัดตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรงมะเร็ง ส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะนี้กลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อทำ Value chain จึงมองโอกาสต่อยอดสู่การร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในอนาคตด้วย ซึ่งจะต้องศึกษาการลงทุนอย่างรอบครอบ
ในขณะเดียวกัน ปตท.อยู่ระหว่างหาผู้รับเหมาก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่(แห่งที่ 7) ในประเทศ เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 1 ที่ใช้งานมานานกว่า 30 ปีแล้ว จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เริ่มการก่อสร้างในปี 2564 และก่อสร้างเสร็จในปี 2566 ซึ่งเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)มาบตาพุด ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง
ปัจจุบัน ปตท.มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1-3, 5 และ 6 ตั้งอยู่ที่ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 ตั้งอยู่ที่ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถแยกก๊าซธรรมชาติสูงสุดได้จริง (Processing Capacity) ได้รวมประมาณ 2,870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ ในปี 2564 ปตท. ตั้งเป้าใช้งบลงทุนมากกว่าระดับปกติ ที่มีการลงทุนแต่ละปีประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หลังมีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่และธุรกิจพลังงานใหม่เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นระดับเท่าไหร่นั้น ยังต้องรอการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.ในเดือนธ.ค.นี้ อนุมัติก่อน
ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วง 2 ปีข้างหน้า ประเมินว่า ยังเคลื่อนไหวระดับต่ำจากสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในปี 65 ก่อนจะเข้าสู่สภาพเดิมหลังมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ทำให้คาดว่าสถานการณ์ราคาจะกลับสู่ปกติในปี 66 ที่กว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล . – สำนักข่าวไทย