กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – ธปท.เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ทั้งในและต่างประเทศ ปัญหาการเมืองในประเทศ และความเปราะบางของภาคแรงงาน
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเกือบเป็นปกติในหลายภาคส่วน และปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยขยายตัวสูงขึ้นทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาทรงตัว หลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนกันยายน -4.2% จากเดือนก่อนหน้าที่ -8.2% ขณะที่การส่งออกไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น มีมูลค่าส่งออก 57,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ -8.2% จากไตรมาส 2 ที่ -17.8% ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกทองคำที่ลดลง ด้านเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ เดือนกันยายนอ่อนค่าลงจากเดือนก่อนตามปัจจัยในประเทศ อาทิ การเมืองและการกลับมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ก่อนจะปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคมจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่ไตรมาส 3 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเปิดรับนักท่องเที่ยว การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ การฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ยังมีความเปราะบาง แม้ดัชนีชั่วโมงการทำงานโดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคยานยนต์จะดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามตัวเลขการขอรับสิทธิว่างงานต่อผู้ประกันตนไปอีก 1-2 เดือน ซึ่งจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งยังต้องติดตามความยั่งยืนของการฟื้นตัวภาคยานยนต์ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน การบริโภค และอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า.- สำนักข่าวไทย