นนบบุรี 26 ต.ค. – พาณิชย์เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP 7 เดือนปี 63 ยังสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหาร/เครื่องดื่ม เติบโตได้ทุกเดือน
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (c) ระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 35,421.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.94 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 32,875.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,546.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ 7 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 14.77
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 32,875.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 15.88 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.69 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จีน (มูลค่า 11,152.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 2) อาเซียน (มูลค่า 10,798.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 3,890.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 3,426.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,784.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ยานยนต์เพื่อขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป มันสำปะหลัง เป็นต้น
นอกจากนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-กรกฎาคม 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,546.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.61 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 81.32 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,243.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.49 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 83.24 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 200.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.17 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 62.66 อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 84.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.92 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 84.60 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 18.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.72 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 100 สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กรดซิทริก เลนส์แว่นตาทำด้วยวัสดุอื่นๆ ฐานรองฟูกทำด้วยยางเซลลูลาร์หรือพลาสติก เป็นต้น
สำหรับสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป ไทยยังคงเป็นครัวของโลกที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวได้อย่างหลากหลาย และสามารถส่งออกไปหลายประเทศคู่ค้าได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว โดยสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม (อาเซียน) ผลไม้สด (อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ปลาทูน่าปรุงแต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เต้าหู้ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) ซอสปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน-จีน) กุ้ง (อาเซียน-จีน) ข้าวโพดหวาน (อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (ไทย-เปรู, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย