สำนักข่าวไทย 25 ต.ค.- EECi เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมขนาดใหญ่และสมบูรณ์ มีการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รองรับการทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง
ในระยะแรกของการดำเนินงานของ EECi กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก ร่วมกับหน่วยงานใน อว. และหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา โดยมีแผนการพัฒนา EECi ออกเป็น 4 ระยะเพื่อความยั่งยืน ดังนี้
ระยะที่ 1 นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยยกระดับและแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม และชุมชนเชื่อมโยงการลงทุนและเป็นศูนย์กลางในการดูดซับและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง จับคู่ และสร้างกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังหน่วยงานวิจัยใน อว. สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยต่างประเทศ ภาคเอกชน และชุมชน รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ระยะที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ อุตสาหกรรมใหม่ที่มีการวิจัยและพัฒนาเป็นฐานโดย EECi จะทำหน้าที่ในการกำหนดโจทย์วิจัยร่วมกัน เพื่อให้งานวิจัยในระยะต่อไปตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้ทันทีเมื่อแล้วเสร็จ โดยให้มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้ผู้ที่มีบทบาทในเครือข่ายวิจัยมาจัดตั้งและทำวิจัยร่วมกัน
ระยะที่ 3 สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทยเข้าสู่ตลาดและห่วงโซการผลิตโลก โดยศึกษาแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศ และการกำหนดมาตรฐานของสินค้านวัตกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ตลอดจนให้การรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการสนับสนุนให้มีจำนวนผู้ให้บริการฐานนวัตกรรมในประเทศในปริมาณที่มากพอต่อความต้องการของผู้ผลิตที่มีมากขึ้น
ระยะที่ 4 การเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำในระดับภูมิภาคโดยเน้นการพัฒนา EECi ให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา และการวิเคราะห์ทดสอบของภูมิภาค ให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการพัฒนามาตรฐานสินค้านวัตกรรมของโลก ตลอดจนสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมไทยซึ่งได้มาตรฐานสากลสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ในปริมาณเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์
สิทธิประโยชน์และการสนับสนุนแก่พันธมิตรร่วมพัฒนา EECi
- สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัยและการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนา
- โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอบร่วมกัน อาทิ โรงผลิตชิ้นงานต้นแบบอุปกรณ์ / เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ Co-Working Space สนามทดลองและทดสอบ
- เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี
- อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% คงที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญ
- ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา
- วีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ
- พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ
EECi จึงนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมขนาดใหญ่และสมบูรณ์ มีการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รองรับการทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง (Commercialization) โดยนอกจากจะเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-curve ด้วยนวัตกรรมอันสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) แล้วยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และในประเทศอีกด้วย ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย