กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – รมว.ทส.สั่งเร่งแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างป้องกันกัดเซาะชายฝั่งที่ทำมาก่อนหน้า ล่าสุดเข้าดูแลหาดม่วงงาม จ.สงขลา ซึ่งมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล แต่ศาลปกครองมีคำสั่งให้หยุดดำเนินการตามคำร้องของชาวบ้าน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและกำหนดมาตรการการแก้ไขกรณีเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามเรียกร้องให้หยุดดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณชายฝั่งหาดม่วงงาม ต.ม่วงงาม อ.สิงหนครที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอื่น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ล่าสุดศาลปกครองจังหวัดสงขลามีคำสั่งให้หยุดดำเนินการชั่วคราวนั้น ทาง ทส.จะเร่งศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแล้วนำมากำหนดแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ย้ำให้การพัฒนาต้องสมดุลกับการอนุรักษ์
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงฯ รายงานสถานการณ์พื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยปี 2562 มีระยะทางรวม 91.69 กม. มีพื้นที่กัดเซาะรุนแรงที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วนระยะทาง 12.87 กม. ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์และผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ดำเนินก่อสร้างแล้ว ต่อมาส่งกระทบผลต่อพื้นที่ข้างเคียงกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน ย้ำว่า ระบบนิเวศมีความสัมพันธ์อย่างลงตัว มนุษย์มีหน้าที่รักษาความสมดุล ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนแปลง การแก้ไขปัญหา จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า การก่อสร้างโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเกิดจากความตั้งใจดีของหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่ขอให้คำนึงถึงความจำเป็น และความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ สิ่งสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ต้องมีโอกาสร่วมคิด ซึ่งจะสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้ง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเห็นชอบการแบ่งระบบกลุ่มหาดเป็น 8 กลุ่มหาดหลักและระบบหาดย่อย 318 ระบบหาด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นหน่วยงานที่กำกับเชิงนโยบายและนำเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ กำชับอธิบดี ทช.ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกพื้นที่ หากพบว่ากิจกรรมหรือโครงการใดอาจก่อให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 21 หรือ 17 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ทันที เพื่อระงับและป้องกันปัญหาก่อนที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนและระบบนิเวศอื่น ๆ ข้างเคียง
นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อ 16 มกราคม 2561 เห็นชอบตามที่ ทช.กำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสีขาวคือ การปล่อยฟื้นฟูตามธรรมชาติ มาตรการสีเขียว คือ การปลูกป่าและใช้วัสดุธรรมชาติ และมาตรการสีเทา คือ การใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานการณ์และสถานภาพชายฝั่งทะเลของประเทศไทยได้จากระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย ซึ่ง ทช.พัฒนาขึ้นร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ผ่านทางระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบได้ทาง Mobile Application ซึ่งจะสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังสามารถรายงานปัญหาด้านการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ได้อีกด้วย โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้ภายในปี 2564.-สำนักข่าวไทย