เร่งแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งสงขลา

สงขลา 29 พ.ย. 63 – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ วาง 3 มาตรการช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลสงขลาหวังเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่ติดตามสถานการณ์ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณแหลมสมิหลา และหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา เพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง และลดผลกระทบประชาชนพื้นที่ในอนาคต ทั้งนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร​ บุรุษพัฒน์​ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​​ ,อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง​ ,อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี​ ,อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ​ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือบูรณาการทำงานแก้ปัญหาร่วมกัน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวด้ลอม กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา​การกัดเซาะชายฝั่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติ​ให้มากที่สุด แล้วนำมาปรับใช้แก้ปัญหาอย่างเหมาะสม โดยทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งการแก้ไขเฉพาะหน้า​ และในระยะยาว ​ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและห่วงใยผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน​ โดยการแก้ไขปัญหา​จุดหนึ่งจะต้องไม่กระทบอีกจุดหนึ่ง​ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้ความสำคัญและเข้าใจในเรื่องนี้​  โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน​ ​มอบหมายกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง​ แบ่งกลุ่มหาดในประเทศไทยออกเป็น​ 8​ กลุ่มหาด  และกำหนด 3 มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่น ประกอบด้วย​ 1.มาตรการสีขาว​ เช่น​ การกำหนดพื้นที่ถอยร่นให้พื้นที่ชุมชนที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง 2.มาตรการสีเขียว เป็นการใช้โครงสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม​ เช่น​ การปลูกป่าช่วยชายฝั่งทะเลถูกคลื่นกัดเซาะ การปักเสาไม้ไผ่ดักตะกอนป่าชายเลน​ และ 3.มาตรการสีเทา​ เป็นการใช้โครงสร้างแข็งช่วยในการป้องกันคลื่น​ เช่น​ การสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันคลื่นชายฝั่ง เป็นต้น​  อย่างไรก็ตามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะเป็นหน่วยงานหลักประสานกับทุกหน่วยงาน​ ร่วมกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะให้มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ระบบนิเวศทางทะเล ที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตของประชาชน​อย่างยั่งยืน .-สำนักข่าวไทย

เปิดข้อมูลดินทรุด กทม. ส่งผลการระบายน้ำ

กรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยพื้นที่ติดทะเลคือที่เขตบางขุนเทียน พื้นดินตามแนวชายฝั่งเริ่มหายไปบางส่วนแล้ว ส่วนปัญหาดินทรุดอย่างรุนแรงในอดีตก็ทำให้พื้นที่หลายแห่งใน กทม.อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ส่งผลต่อการระบายน้ำในปัจจุบัน

...