กรุงเทพฯ 16 ต.ค. – ธปท.ปรับแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอีเฉพาะรายลูกหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ 22 ต.ค.นี้ พบกลับมาชำระหนี้ตามปกติจำนวนมาก ห่วงลูกหนี้อีกกว่า 5 หมื่นรายยังไม่สามารถติดต่อได้ โดยจะยังคงสถานะลูกหนี้ปกติจนถึงสิ้นปีนี้ หากพ้นกำหนดอาจปรับเป็นเอ็นพีแอล
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ธปท.ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ หลังหมดมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการ 6 เดือน วันที่ 22 ตุลาคมนี้ แต่จะปรับเป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละรายมากขึ้นแทนการใช้มาตรการแบบทั่วไป ซึ่งมีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการเดิม 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้รวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 400,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ไปอีก 3-6 เดือนแล้ว
ส่วนลูกหนี้อีกประมาณ 270,000 บัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 950,000 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานะความช่วยเหลือ และติดต่อกับลูกหนี้ได้แล้ว 94% โดยพบว่ากลุ่มนี้มากกว่า 50% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ส่วนที่เหลือหารือกับสถาบันการเงินเพื่อเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือแล้ว โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ ธปท.กำหนดระยะเวลาของมาตรการล็อตใหม่ไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 หรือจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 และหลังจากนั้นจะประเมินสถานการณ์ร่วมกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ธปท.แสดงความเป็นห่วงลูกหนี้อีก 6% หรือประมาณ 57,000 บัญชี ที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ เบื้องต้นจะให้คงสถานะลูกหนี้ปกติไปจนกว่าจะสิ้นปี 2563 หากยังติดต่อไม่ได้ก็จะปรับสถานะเป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล และให้สถาบันการเงินตั้งสำรองเงินเพิ่มเติมต่อไป
นางรุ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ต้องปรับมาตรการช่วยเหลือจากทั่วไปเป็นแบบเชิงรุกและตรงจุดมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางลบระยะยาวได้ เนื่องจากลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ระยะยาว ไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชาระหนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกระทบต่อการออกมาตรการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายใหม่ในอนาคตได้
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าลูกหนี้เอสเอ็มอีมียอดสินเชื่อรวม 6.89 ล้านล้านบาทนั้น ยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นยอดสินเชื่อรวมทุกประเภทรวมถึงสินเชื่อรายย่อยและลูกหนี้บริษัทขนาดใหญ่ .- สำนักข่าวไทย