กรุงเทพฯ 12 ต.ค. – กรมทางหลวงพอใจผลการแก้ปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 ขยายช่องจราจรคืบหน้า 83% คาดเสร็จ ธ.ค.นี้ พร้อมเดินหน้าสร้างทางยกระดับถึงบ้านแพ้วทันที
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/10/สราวุธ-ทรงศิวิไล-1210-1024x536.jpg)
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ยืนยันถึงความคืบหน้างานก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 โดยภาพรวมทั้ง 3 ตอน ขณะนี้คืบหน้า 83% ปัจจุบันเหลืองานก่อสร้างสะพานกลับรถเกือกม้า 2 แห่ง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ ขณะเดียวกันดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมให้มีการเปิดผิวช่องจราจรบนถนนพระราม 2 ให้ครบทั้ง 14 ช่องจราจร หลังจากงานก่อสร้างในส่วนการขยายช่องจราจร จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจรเสร็จ จะส่งผลให้ปัญหาการจราจรติดขัดลดลงอย่างมาก
สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 กรมทางหลวงได้นำแนวทาง 6 มิติของกระทรวงคมนาคมมาแก้ปัญหา โดยส่วนแรกเป็นการจัดตั้งเครื่องกั้นหรือแบริเออร์ถนนที่มีการก่อสร้างให้เป็นระเบียบปลอดภัย, ให้ผู้รับเหมางานระดมเครื่องจักรเข้าพื้นที่ และทุกจุดที่มีการปิดถนนเบี่ยงการจราจรต้องมีการก่อสร้างจริง ไม่มีการปิดพื้นที่เพื่อรองาน ทำให้ปัญหาจราจรติดขัดเบาบางลงมาก
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/10/ถนนพระราม2-1024x568.jpg)
ขณะเดียวกันกรมทางหลวง ยืนยันถึงความจำเป็นในการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 หรือมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 จากบางขุนเทียนไปถึงบ้านแพ้ว เนื่องจากถนนพระราม 2 จะเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางสู่ภาคใต้ที่มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นทุกปี และต้องมีการวางแผนเพิ่มผิวจราจรล่วงหน้า เพราะงานก่อสร้างจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี โดยการขยายเพิ่มทางยกระดับถึงบ้านแพ้วจะทำให้ผู้ใช้ทางมีผิวจราจรเพิ่ม รวมเป็น 20 ช่องจราจร สำหรับงานก่อสร้างทางยกระดับช่วงแรก คือ บางขุนเทียนถึงเอกชัย ระยะทาง 10 กิโลเมตร ปัจจุบันคืบหน้า 11.39% คาดว่าจะเสร็จปี 2565
ส่วนการต่อขยายเส้นทางถึงบ้านแพ้วอีก 16 กิโลเมตรนั้น จะเริ่มงานก่อสร้างปี 2565 คาดเสร็จปี 2567 เมื่อนำระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น หรือ M-FLOW มาใช้ ก็จะทำให้การเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างทางยกระดับพระราม 2 กับทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ปี 2567 เช่นกัน ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถขับรถวิ่งต่อเชื่อมแบบไร้รอยต่อ โดยไม่ต้องมีด่านเก็บเงินมากั้นเป็นระยะ ทำให้การจราจรบนทางพิเศษคล่องตัวมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย