กรุงเทพฯ 9 ต.ค.- กรมทางหลวงชนบท พร้อมรับโอนถนน กว่า 1.2 หมื่นกิโลเมตร จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับมาดูแลเอง โดยล่าสุด รอเคลียร์ประเด็นข้อกฎหมาย จากคณะกรรมการการกระจายอำนาจที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.)เปิดเผยถึงกรณีที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมส่งมอบถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.),องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ให้กลับมาอยู่ที่ กรมทางหลวงชนบท หลังจากในอดีตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ได้รับโอนถนนในพื้นที่ตนเองไปบริหารจัดการ ครอบคลุมถึงงานดูแลซ่อมบำรุงต่างๆด้วย โดยในเรื่องดังกล่าวในส่วนของ ทช.พร้อมที่จะรับโอนถนนกลับมายัง ทช.
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีประเด็นในข้อกฎหมายว่า ในอดีตมีกฎหมายรองรับในส่วนการโอนถนนของ ทช.ไป อบต.และ อบจ. แต่ในการรับโอนถนนกลับมานั้นมีกฎหมายรองรับและสามารถดำเนินการได้หรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อกฎหมายซึ่งล่าสุด คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องนี้และจะสรุปผลออกมา เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของทช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ
ทั้งนี้ความจำเป็นในการต้องโอนถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับมาที่ทช. เนื่องจากว่า เมื่อพิจารณาขอบข่ายความรับผิดชอบ งบประมาณสร้าง และซ่อมบำรุงรักษาทางที่เกิดขึ้น ในบางพื้นที่หากต้องใช้งบประมาณสูง ก็เกินกว่าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะรับภาระได้ รวมถึงปริมาณการจราจรรถที่ใช้สัญจรของถนนบางสาย ที่มีรถมาใช้เส้นทางสัญจรมากขึ้น ก็ทำให้สภาพการใช้งานของถนนเส้นนั้น กลายเป็นถนนสายรองที่มีความจำเป็น ในการใช้งานสูงขึ้น ไม่ได้ไปถนนที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรในพื้นที่ท้องถิ่นเท่านั้น
ทั้งนี้ในเบื้องต้นถนนที่มีการถ่ายโอนจาก ทช.ไปอยู่ในความรับผิดชอบ อบต. และ อบจ. และอยู่ในข่ายที่จำเป็นต้องรับโอนมอบกลับมาที่ ทช. ขณะนี้มีประมาณ 12,000 กม. จากที่ ทช. รับผิดชอบถนนในปัจจุบันที่ 48,000 กม. ทั่วประเทศ และหากข้อกฎหมาย และคณะกรรมการฯ ชี้ว่าสามารถดำเนินการได้ให้มีการรับโอนคืน ทช.ก็พร้อมที่จะรับการถ่ายโอน ซึ่งจากการประเมินจะเป็นการทยอยรับโอนเฉลี่ยปีละ 5% หรือประมาณ 400-500 กม./ปี
โดยสาเหตุที่ต้องทยอยรับโอนเนื่องจาก ทช.จะต้องมีการตั้งงบประมาณรองรับในการซ่อมบำรุงและปรับปรุงโครงการถนน และ จำนวนบุคลากร ให้สอดคล้องกับระยะทางถนนที่เพิ่ม เพื่อการจัดการเป็นไปตามมาตรฐานได้ตามมาตรฐาน เนื่องจากในปัจจุบัน ทช.ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่าปีละ 49,000 ล้านบาทในการดูแลถนนในความรับผิดชอบกว่า 48,000 กม.ทั่วประเทศ
“ก่อนหน้าที่มีนโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทช.มีถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบกว่า 120,000 กม ต่อมาเมื่อมีการถ่ายโอนความรับผิดชอบถนน ทช.ไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทช.เหลือถนนที่รับผิดชอบเพียง 48,000 กม. และในปัจจุบันถนนที่มีการถ่ายโอนไป กลับกลายเป็นว่ามีปริมาณจราจรที่ใช้สัญจรมากกว่า 800-900 เที่ยว/วัน ขณะที่เส้นทางถนนกลับเป็นถนนที่มีการเชื่อมระหว่างหมู่บ้านไปอำเภอ จากอำเภอไประหว่างอำเภอ ซึ่งหากมีการบำรุงรักษาเพื่อให้ได้มาตรฐานการใช้งานจะต้องมีการขยายช่องทางรถเพิ่มขึ้นจาก 2 เลนสวนเป็น 4 เลนสวนไปกลับเป็นต้น และหากเป็นถนนที่วิ่งจากระหว่างจังหวัดก็จะต้องมีการโอนมอบไปยัง กรมทางลวง(ทล.) เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายเส้นทางที่ ทช. โอนถ่ายถนนในความรับผิดชอบ จาก ทช.ประมาณ 8 สายทาง ไปให้ ทล. ขณะที่ ทล.ก็ถ่ายโอนถนนในความรับผิดชอบกว่า 7-8 สายทางมาให้ ทช.รับผิดชอบเช่นกัน”นายปฐมกล่าว . – สำนักข่าวไทย