กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – สำนักงานชลประทานที่ 6 ระดมเครื่องจักรขุดเปิดทางน้ำ เพื่อผันน้ำจากฝนที่ตกลงมาวันที่ 7-9 ต.ค. นี้ เข้าเก็บกักในอ่างเก็บน้ำและแก้มลิง สำรองน้ำไว้ใช้หน้าแล้งให้มากที่สุด
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในวันที่ 7-9 ตุลาคม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นซึ่งจะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามพรุ่งนี้ (7 ตุลาคม) ดังนั้นจึงใช้อาคารชลประทานบริหารจัดการน้ำ เน้นการเก็บกักและระบายน้ำผันเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด ในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
สำหรับจังหวัดขอนแก่นซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ เขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งมีน้ำในเกณฑ์น้อย แต่เมื่อมีฝนตกจากพายุโซนร้อนโนอึลช่วงวันที่ 18-20 กันยายน ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น จากเดิมต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้ ขณะนี้น้ำมากกว่าปริมาณเก็บกักต่ำสุดแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 105.88 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 95 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก จึงระบายน้ำผันเข้าไปเก็บกักไว้ให้มากที่สุดเช่น อ่างเก็บน้ำหนองกรองแก้ว อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจากการปรับเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนชนบทลงแม่น้ำชี แล้วนำเครื่องจักรเข้าไปขุดเปิดทางน้ำ เพื่อชักน้ำเข้ามาเก็บกักที่หนองกรองแก้ว จากเดิมที่มีปริมาณน้ำเพียง 20% ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 50% จากความจุเก็บกัก 13.59 ล้าน ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้น้ำส่วนหนึ่งจะถูกผันเข้าไปเก็บกักไว้ที่กุดละว้า คาดว่าจะสามารถเติมน้ำให้อ่างฯ ได้ประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะส่งผลดีทำให้ในฤดูแล้งหน้าพื้นที่อำเภอชนบท จะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างไม่ขาดแคลน
“ย้ำให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุด โดยอ่างที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าน้อย จะบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานผันระบายน้ำเข้า ตลอดจนขุดชักร่องน้ำเพื่อให้ฝนที่ตกลงมาไหลลงอ่างเก็บน้ำและแก้มลิงให้มากที่สุด” นายศักดิ์สิริกล่าว . – สำนักข่าวไทย