วินมอเตอร์ไซด์ รอบ กฟผ. 51 คัน เตรียมใช้รถฟรี
กฟผ. 22 ก.ย.-กฟผ. ส่งเสริมอีวี ระบบขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ นำร่องวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า ให้ทดลองใช้ฟรี 51 คันรอบ กฟผ.สำนักงานใหญ่ ทดลองเรือไฟฟ้า 2 ลำ พร้อมเร่งโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้อู่รถ เปลี่ยนรถเก่าเป็นอีวีไม่เกิน 2 แสนบาท/คัน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน “E Trans E” (Electric Transportation of EGAT) ว่า กฟผ.พร้อมเป็นหน่วยงานแรกที่ปักหมุดเป็นแหล่งพลังงานด้านชาร์จไฟฟ้าสำหรับขนส่งสาธารณะ จึงมุ่งวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ ,สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charger) ร่วมมือ กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ในการติดตั้งที่ปั๊มชาร์จไฟฟ้าในปั๊ม ปตท .ร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ มุ่งลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 และเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ สนองนโยบาย One transport ของภาครัฐ
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้พัฒนาวิจัยทั้งเรือไฟฟ้า รถเมล์ การติดตั้งเคคื่องยนต์อีวี ในรถยนต์เก่า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดได้คุยกับวิน มอเตอร์ไซด์ รอบ กฟผ.ในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อมาร่วมโครงการทดลองเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานต์ไฟฟ้า จำนวน 51 คัน โดยไม่ต้องเสียค่าเช่ารถแต่อย่างใด กฟผ.จัดหาให้เข้าโครงการเป็นเวาลา 14 เดือน และเมื่อครบกำหนดเวลาอาจจะได้รถไปใช้ได้ต่อ โดยจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ กฟผ.กำหนด ซึ่งจะวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร โดยผู้ขับขี่สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี
นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้า จำนวน 2 ลำ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถแล่นด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 10 น็อต ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยระบบปรับอากาศในห้องโดยสารถูกออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือทั้ง 2 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 คน ซึ่งในระยะแรกจะทดสอบการเดินเรือเพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของ กฟผ. ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคตเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้าอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ.
ส่วนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า กฟผ. ได้นำรถยนต์เก่าใช้แล้วมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยชุด EV Kit ที่ กฟผ. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันพัฒนาขึ้น ให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงไม่รวมแบตเตอรี่ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดัดแปลงรถยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งผู้สนใจร่วมโครงการได้ถึงสิ้น กันยายนนี้
ในขณะเดียวกันได้ ร่วมโครงการดัดแปลงรถเมล์เก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้วของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 100-250 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร ความเร็วสูงสุดมากกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 80 คน และจะนำไปใช้ทดสอบเดินรถจริงในเส้นทางสาย 543ก (ท่าน้ำนนทบุรี – อู่บางเขน) ซึ่งจากการทดลอง 4 คันพบว่าต้นทุนต่ำกว่าการซื้อรถเมล์อีวีคันใหม่ที่ขณะนี้มีราคาราว 8-10 ล้านบาท/คัน
“การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นั้น กฟผ.ตั้งใจแสวงหาองค์ความรู้ให้เกิดการพัฒนาจากสิ่งที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งชุดอุปกรณ์ดัดแปลง แบตเตอรี่ หรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าผลักดันไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างมากขึ้น”นาวิบูลย์กล่าว-สำนักข่าวไทย