นนทบุรี 14 ก.ย. – พาณิชย์ตั้งคณะทำงานร่วมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยและคณะกรรมการเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจาก 17 องค์กรทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเลี้ยงกุ้งและส่งออกกุ้งไทยไปตลาดโลก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยและคณะกรรมการเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจาก 17 องค์กรทั่วประเทศ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วม โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวที่ได้ยื่นเรื่องและชี้แจ้งปัญหาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้สามารถกลับมาแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยินดีที่จะหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามที่ทางกลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยและคณะกรรมการเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจาก 17 องค์กรทั่วประเทศได้เสนอมา โดยทุกปัญหาคณะทำงานร่วมจะเร่งสรุปผลในทางปฎิบัติได้ต่อไป
นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยและคณะกรรมการเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจาก 17 องค์กรทั่วประเทศ กล่าวว่า ทางกลุ่มยื่นหนังสือขอให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยหลังวิกฤติโควิด-19 และนำเสนอโครงการฟื้นฟูด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีเร่งด่วน โดยหวังพัฒนาคุณภาพกุ้งไทยและขยับส่วนแบ่งการตลาดในการส่งออกเพื่อนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมกุ้งไทยเป็นอุตสาหกรรมส่งออกอันดับหนึ่งของโลกมีผลผลิตประมาณ 600,000 ตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 100,000 ล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 200,000 ตำแหน่ง ต่อมาเกิดวิกฤติโรคระบาดอีเอ็มเอสทำให้ผลผลิตตกต่ำส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 300,000 ตัน มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท ตกลงมาเป็นอันดับ 5 ของโลก และสร้างงานเพียง 100,000 ตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่โรงงานใช้กำลังการผลิตไม่ถึงครึ่งของกระบวนการผลิตทั้งหมดและเกษตรกรปรับตัวกับวิกฤติอีเอ็มเอสได้แล้ว จึงส่งผลให้อัตราการผลิตกุ้งของไทยเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและคาดหวังว่าจะเติบโตถึง 400,000 ตันในปี 2565- 2566
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เลี้ยงกุ้งมีปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะราคาอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับที่สูง จึงอยากให้ภาคภาครัฐพิจารณาลดภาษีน้ำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศเพื่อให้เกษตรกรหาซื้ออาหารสัตว์ได้ในราคาที่ถูกลง ให้ภาครัฐคิดอัตราค่าไฟฟ้าเรทเกษตรกร เพราะปัจจุบันคิดค่าไฟฟ้าเรทไฟฟ้าบ้านทั่วไป มีแหล่งสินเชื่อที่เกษตรกรเข้าถึงได้ เพราะปัจจุบันเกษตรกรไม่สามารถกู้สินเชื่อได้หรือกู้ได้น้อย รวมทั้งการกำหนดปริมาณผลผลิตกุ้งแต่ละปีให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาด มีการเปิดโอกาสให้เครือข่ายเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ นำผลผลิตมาจำหน่าย ขยายฐานลูกค้า และแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำและภาครัฐก็ยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุดเครือข่าย จึงหวังว่าคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมาจะสามารถนำปัญหาที่เครือข่ายเสนอไปแก้ปัญหาให้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะได้รักษาตำแหน่งผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกได้ต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งโลกต่างประสบปัญหากับการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่กลับเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพราะยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา เนื่องจากประเทศคู่แข่งรายสำคัญ เช่น อินเดีย เอกวาดอร์ ยังประสบปัญหาในการผลิตในหลากหลายด้านทั้งกระบวนการส่งออกรวมทั้งพบการปนเปื้อนบนผลิตภัณฑ์เป็นต้นทำให้สินค้าของประเทศไทยได้รับความนิยมและมีความต้องการจากกลุ่มผู้ค้าหลักหลักเช่นจีนและประเทศอื่น ๆ มากยิ่งขึ้นจึงเป็นโอกาสให้ประเทศไทยในการเดินหน้าตลาดอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้มีสินค้าคุณภาพสู่ตลาดโลกมากขึ้น ดังนั้น เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย จึงต้องการให้หน่วยงานหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐเอกชนและองค์กรเกษตรกรเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบในการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้กลับสู่ขีดความสามารถเดิมภายใต้วิกฤติโควิด-19.-สำนักข่าวไทย