กสส.ยืนยันแก้ปัญหาสหกรณ์ฯ รถไฟตามอำนาจหน้าที่

กรุงเทพฯ  11 ก.ย. – กรมส่งเสริมสหกรณ์ออกแถลงการณ์ปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ พบส่อทุจริตตั้งแต่ปี 2559 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นายทะเบียนสหกรณ์ แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง เป็นผลให้สหกรณ์เจ้าหนี้ 15 ราย จ่ายเงินปันผลให้สมาชิกได้ ส่วนอีก 5 รายจ่ายไม่ได้ เพราะสัญญากู้ลงนามโดยผู้ไม่มีอำนาจตามกฎหมายและอยู่ระหว่างดำเนินคดี


กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีข่าวการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.) โดยระบุว่า กสส.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสหกรณ์เจ้าหนี้กว่า 90 แห่ง มูลค่าเสียหายกว่า 23,000 ล้านบาท ซึ่งข่าวดังกล่าวอาจทำให้สมาชิก สอ.สรฟ.และสหกรณ์เจ้าหนี้ตื่นตระหนก โดย กสส.ยืนยันว่าตั้งแต่พบการกระทำส่อทุจริตของ สอ.สรฟ. ในเดือน ต.ค. 2559 โดยกรรมการ สอ.สรฟ.อนุมัติเงินกู้พิเศษไม่เป็นไปตามระเบียบให้แก่สมาชิก 6 รายในช่วงปี 2556 – 2559 รวม 199 สัญญา ยอดเงินกู้ 2,285 ล้านบาท กสส.เข้าแก้ไขปัญหาทันที จนกระทั่งวันที่ 2 ส.ค. 2561 คณะกรรมการ สอ.สรฟ.แจ้งความดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับกรรมการชุดที่กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน จนเสนอสำนวนให้พนักงานอัยการสั่งฟ้อง แต่มีปัญหาเรื่องเขตอำนาจสอบสวน จึงมีการส่งสำนวนกลับมาให้ สน.นพวงศ์ ดำเนินการสอบสวนต่อ ปัจจุบันเรื่องยังคงอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน   ดังนั้น จึงไม่ได้มีการปล่อยให้เกิดการทุจริตแล้วไม่ดำเนินการแต่อย่างใด

เดือนตุลาคม 2562 กสส.จัดให้มีการหารือระหว่าง สอ.สรฟ.และสหกรณ์เจ้าหนี้เงินฝากและเงินกู้ทั้ง 15 แห่ง รวม 3,037.51 ล้านบาท เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ สอ.สรฟ. จนนำมาสู่การทำข้อตกลงร่วมกันในการชำระเงินฝากคืนให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ 9 แห่ง และทยอยชำระหนี้เงินกู้ให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ 1 แห่ง ซึ่งตอนนี้มียอดหนี้คงเหลือตามบันทึกข้อตกลง 2,153 ล้านบาท ยกเว้นสหกรณ์เจ้าหนี้ 5 แห่ง มูลหนี้ 747 ล้านบาท เนื่องจากกรรมการ สอ.สรฟ.ชุดที่ 13 พบว่า ผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายของสหกรณ์เจ้าหนี้ โดยได้มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแล้ว


ทั้งนี้ สภาพคล่องของ สอ.สรฟ. เมื่อเดือน ส.ค. 2563 พบว่า มีเงินเข้า 53.4 ล้านบาทต่อเดือน สามารถจ่ายเงินกู้ให้สมาชิกประมาณ 18.5 ล้านบาท จ่ายคืนเงินฝากแก่สมาชิก 6.5 ล้านบาท ชำระหนี้/จ่ายคืนเงินฝากแก่สหกรณ์เจ้าหนี้ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 25.48 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 1.03 ล้านบาท มีเงินสดเหลือ 1.86 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นผลดีของการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทำให้ สอ.สรฟ.ดำเนินธุรกิจต่อไปและสามารถชำระหนี้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ได้ตามข้อตกลง สำหรับแผนดังกล่าวจะมีการติดตามประมวลผลทุก 3 เดือน และทบทวนแผนทุก 1 ปี

กสส.ให้ความมั่นใจได้ว่าเร่งแก้ไขปัญหาทันทีและต่อเนื่อง โดยยึดแนวการแก้ไขตามระเบียบและ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยวันที่ 21 พ.ย. 2559 ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์มีคำสั่งให้ระงับการให้เงินกู้พิเศษ 6 ราย จากนั้น 29 พ.ย. 2559 นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้คณะกรรมการ สอ.สรฟ. แก้ไขข้อบกพร่องโดยให้ทั้ง 6 ราย ส่งเงินกู้พิเศษก้อนดังกล่าวคืนภายใน 60 วัน ต่อมาเดือน มี.ค. 2560 เมื่อพบว่าคณะกรรมการ สอ.สรฟ.ยังแก้ไขไม่ครบถ้วน รองนายทะเบียนสหกรณ์ได้ให้กรรมการ สอ.สรฟ. และผู้จัดการสหกรณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่ง สอ.สรฟ.ตอบกลับมาว่าตั้งคณะอนุกรรมการติดตามทวงเงินจาก 6 รายแล้ว และพบว่าคณะกรรมการ สอ.สรฟ.ที่อนุมัติเงินกู้ผิดระเบียบ คือ กรรมการ สอ.สรฟ. ชุดที่ 7 – 11 

ดังนั้น วันที่ 11 ก.ค. 2560 นายทะเบียนสหกรณ์จึงสั่งการให้คณะกรรมการฯ มีหนังสือเรียกให้อดีตกรรมการในชุดที่ 7 – 11 ชดใช้เงินคืนกับ สอ.สรฟ. ภายใน 30 วัน และตรวจสอบว่ามีผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ สอ.สรฟ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่  เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อไป และหากว่าผู้กู้ทั้ง 6 ราย ไม่คืนเงินให้ดำเนินการร้องทุกข์ฟ้องคดีภายใน 15 วัน หรือหากผู้กู้ทั้ง 6 ราย อ้างว่ายังไม่ครบอายุสัญญาให้บอกเลิกสัญญาและเรียกคืนเงินกู้ทั้งหมดใน 30 วัน และฟ้องดำเนินคดีต่อไป


ส่วนการติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องของคณะกรรมการ สอ.สรฟ. และบริหารสภาพคล่องของสหกรณ์นั้น เมื่อพบว่า กรรมการ สอ.สรฟ. ไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่ง ในวันที่ 19 ต.ค. 2560 นายทะเบียนสหกรณ์จึงร้องทุกข์กล่าวโทษคณะกรรมการ สอ.สรฟ. ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ต่อพนักงานสอบสวนที่สน.บางรัก

จากนั้น สอ.สรฟ.ได้เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่เมื่อ 25 ต.ค. 2560 ได้กรรมการชุดที่ 12 เมื่อเข้าทำงานเป็นระยะเวลา 1 เดือน ผู้ตรวจการสหกรณ์พบว่า คณะกรรมการชุดที่ 12 ยังดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ไม่ครบถ้วน เป็นการขัดคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ จึงใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทน สอ.สรฟ. ต่อพนักงานสอบสวนที่ สน.บางรัก เพื่อดำเนินคดีอาญาและแจ้งต่ออัยการสูงสุดพิจารณาให้พนักงานอัยการรับว่าต่างฟ้องคดีทางแพ่งต่อคณะกรรมการชุดที่ 7 – 11และผู้จัดการ รวม 26 ราย และใช้อำนาจมาตรา 22 (4) ให้คณะกรรรมการ สอ.สรฟ. ชุดที่ 12 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดชั่วคราวเข้ามาบริหารกิจการ 15 คน เป็นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ 8 คน และตัวแทนสมาชิก สอ.สรฟ. 7 คน วาระทำงาน 180 วัน ภาระกิจหลัก คือ การเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ทำให้สหกรณ์เสียหายและฟ้องดำเนินคดี และแก้ไขสภาพคล่องเพื่อให้ สอ.สรฟ. ดำเนินธุรกิจได้ปกติ และจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการ สอ.สรฟ. ขึ้นมาบริหารต่อไป

ระหว่างวันที่ 30 – 31 พ.ค. 2561 คณะกรรมการ สอ.สรฟ. ชุดชั่วคราวได้จัดการหารือกับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้ง 15 แห่ง แล้วจัดทำ MOU กับสหกรณ์เจ้าหนี้ 12 สหกรณ์และบันทึกช่วยจำกับสหกรณ์เจ้าหนี้ 2 สหกรณ์ รวม 14 สหกรณ์ (ยกเว้นสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด) ในประเด็นการจ่ายคืนเงินฝากและชำระหนี้เงินกู้ เพื่อรักษาสภาพคล่องของสหกรณ์ และในวันที่ 2 ส.ค.61 คณะกรรมการชุดชั่วคราวมีมติมอบให้ทนายของสหกรณ์ดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งกับสมาชิก 6 รายที่ทำให้สหกรณ์เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 2 ราย จากนั้น 31 ส.ค. 2561 สำหรับคณะกรรมการบริหาร สอ.สรฟ. ปัจจุบันเป็นชุดที่ 14 ซึ่งติดตามการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำให้สหกรณ์เสียหายอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของกสส. ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์

PEA ตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา 5 จุด

เริ่มแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รับนโยบาย สมช.สั่งตัดไฟฟ้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งเมียนมา 5 จุด เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้

บุกจับกำนันหญิงแหนบทองคำ ฉ้อโกง 41 ล้าน

ตำรวจพิษณุโลกเปิดปฏิบัติการ “หักขาไก่” นำ 10 หมายจับ รวบตัว “กำนันหญิงแหนบทองคำ” ประธานกองทุนหมู่บ้าน กับคณะกรรมการกองทุนฯ ร่วมฉ้อโกงประชาชน หลังชาวบ้าน 140 ราย แจ้งความ มูลค่าความเสียหาย 41 ล้านบาท

ชาวเมียวดีหวั่นถูกตัดไฟฟ้า เตรียมเทียนไข-ไฟโซลาร์เซลล์

ชาวบ้านเมียวดี ฝั่งเมียนมา ตรงข้ามชายแดนแม่สอด จ.ตาก หวั่นไทยตัดไฟฟ้า กระทบวงกว้าง เตรียมเทียนไข-ไฟโซลาร์เซลล์-เครื่องปั่นไฟ รับมือ ด้าน PEA ชี้ตัดไฟเมียนมาอาจสูญเปล่า หากไม่พิจารณาให้ครบถ้วน

ข่าวแนะนำ

พิรงรองคุก2ปี

คุก 2 ปี “พิรงรอง” กสทช. คดี “ทรู” ฟ้องกลั่นแกล้ง

ศาลสั่งจำคุก 2 ปี “พิรงรอง” คณะกรรมการ กสทช. ไม่รอลงอาญา ผิดมาตรา 157 ชี้มีเจตนากลั่นแกล้ง “ทรูไอดี” ให้ได้รับความเสียหาย กรณีออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกในทีวีดิจิทัล

นายกฯพบสีจิ้นผิง

นายกฯ เข้าเยี่ยมคารวะ “สี จิ้นผิง”

นายกฯ เข้าเยี่ยมคารวะ “สี จิ้นผิง” ย้ำความสัมพันธ์ทางการทูตและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ด้านจีนหนุนไทยมีบทบาทในเวที ระดับโลกและภูมิภาค

ตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์

“ภูมิธรรม” ลงพื้นที่แม่สอด ชี้ยังสรุปไม่ได้ หลังตัดไฟเมื่อวาน

“ภูมิธรรม” ลงพื้นที่แม่สอด ชี้ยังสรุปไม่ได้ หลังตัดไฟแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ขอทำไปประเมินไป อย่าทำให้เป็นประเด็น มองเป็นสิทธิฝั่งเมียนมาซื้อไฟฟ้าจากลาว ลั่นเดี๋ยวต้องคุยอีก ย้ำตัดไฟครั้งนี้ไม่ได้ใช้อารมณ์ รู้อยู่กระทบเศรษฐกิจบ้าง แต่แค่ 0.1%

รวบแล้วนักโทษหนีเรือนจำนนทบุรี จนมุมที่ จ.ชลบุรี

จับได้แล้วนักโทษชายหนีเรือนจำจังหวัดนนทบุรี ระหว่างออกกองงานภายนอก จนมุมที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งย่านบางแสน จ.ชลบุรี ก่อนนำตัวมาสอบสวนและดำเนินคดีที่ สภ.เมืองนนทบุรี