เมืองทองธานี 3 ก.ย. – คณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอ 5 Big Rock ปฏิรูปด้านพลังงาน หวังผลสำเร็จปี 65 เร่งรัด One Stop Service ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ พัฒนาศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ รองรับนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” รวมใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้านพลังงาน เพิ่มการลงทุน จ้างงาน สร้างรายได้
นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูปพลังงาน ต้องทบทวนหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต่อภาคพลังงานในครึ่งแรกของปี 2563 จีดีพีไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ 12 พบว่ากระทบความต้องการใช้พลังงานลดลง การใช้ไฟฟ้าชะลอตัวร้อยละ 14 น้ำมันชะลอตัวร้อยละ 12.6 น้ำมันเครื่องบินหดตัวร้อยละ 50 แทบจะหยุดบินทุกราย หลังจากต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าไทย แอลพีจีหดตัวร้อยละ 11.6 คณะกรรมการปฏิรูปจึงต้องทบทวนหลายปัจจัย หากหลายประเทศค้นคว้าวัคซีนได้สำเร็จจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกส่วน เมื่อการใช้ไฟฟ้าลดลง จึงมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงขึ้น การใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าลดลง ขณะที่ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง
สำหรับโจทย์สำคัญของภาคพลังงานไทย หลังจากเผชิญโควิด-19 ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องทั่วโลก ด้านพลังงานจึงต้องเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากภาคพลังงานเพิ่มการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ พร้อมกับดูแลราคาพลังงานไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน “ให้นโยบายพลังงาน ลดเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานจึงเสนอ 5 ประเด็นเร่งด่วน Big Rock หรือกิจกรรมสำคัญ มีผลกระทบสูงต่อการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงพลังงานไทย ต้องเร่งเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วภายในปี 2565
นายมนูญ ศิริวรรณ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า 5 Big Rock ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้แก่ กิจกรรมการปฏิรูปที่ 1 การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้านการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนการอนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ปลดล็อกข้อจำกัดและขั้นตอนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นการลงทุนด้านพลังงาน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้า ต้องยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพียงหน่วยงานเดียว เพราะแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงาน และอีกหลายด้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
กิจกรรมการปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC) ควรเป็นหน่วยงานอิสระ จากกระทรวงพลังงาน เพื่อความคล่องตัว เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผน การตัดสินใจเชิงนโยบาย และเป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลด้านพลังงาน ปร่งใส แม่นยำ เชื่อถือได้ จึงต้องเร่งสร้าง Branding NEIC ให้เป็นที่น่าเชื่อถือผ่านการจัดตั้งกลไกกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นระบบและมีรูปแบบสื่อสารที่เข้าใจง่าย เพื่อลดการบิดเบือนข้อมูล สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญผ่านกลไกผู้บริหารสารสนเทศระดับสูง (CIO) ร่วมกับพลังงานจังหวัด สื่อมวลชน และเครือข่าย Social ด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจข้อมูลด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง ลดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อนโยบายพลังงาน
นายคุรุจิต นาครทรรพ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า กิจกรรมการปฏิรูปที่ 3 มาตรการธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน ESCO ภาครัฐ เพื่อให้เป็นองค์กรตรวจสอบการประหยัดพลังงานให้กับบริษัทเอกชนในการปรับปรุงทุกด้านเพื่อประหยัดพลังงาน เช่น ซีพี เปลี่ยนหลอดไฟ ใช้พลังงานทดแทนประหยัดเงินได้กว่า 700-800 บาท เพื่อให้บริษัทจัดการพลังงาน ESCO ภาครัฐ ให้เป็นช่วยลงทุนหรือปรึกษา หวังเปลี่ยนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคเป็นการจ้างเอกชนมาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงานให้อาคารของรัฐ ไม่ได้กระทบต่องบประมาณรัฐ และยังช่วยประหยัดไฟฟ้าทำให้หน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนของรัฐ สามารถนำผลประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นจริงมาจ่ายเป็นค่าบริการบริษัทจัดการพลังงาน หน่วยงานรัฐใช้ไฟฟ้า 47,000 ล้านบาทต่อปี หากประหยัดร้อยละ 10 ประหยัดงบได้ถึง 5,000 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมายระยะแรก 876 อาคารรัฐ หวังช่วยประหยัดพลังงานภาครัฐคิด 2,600 ล้านบาทต่อปี ลดงบประมาณด้านซ่อมบำรุงและความเสี่ยงในการจัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าและการติดตั้งเทคโนโลยีโซลาร์รูฟที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) อาทิ ระบบ Censor เครื่องมือ/อุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อต่อยอดไปสู่ Smart home/ Smart Building โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าช่วยสร้างงานใหม่ให้กับประเทศ ไม่น้อยกว่า 37,500 ตำแหน่ง ในระยะ 10 ปีข้างหน้า
สำหรับกิจกรรมการปฏิรูปที่ 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) เพราะโรงกลั่นอายุส่วนใหญ่เกิน 60 ปี ปิโตรเลียมยังจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน จึงต้องยกระดับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0
ส่วนกิจกรรมการปฏิรูปที่ 5 ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยปฏิรูปแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2022 ทั้งด้านการบริหารและโครงสร้างราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เปลี่ยนระบบการผลิตจากรวมศูนย์สู่กระจายศูนย์ แยกระบบส่งและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากกิจการผลิตไฟฟ้า เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งการผลิตใช้เองและขายเข้าระบบ พร้อมปฏิรูปการบริหารจัดการของ 3 การไฟฟ้าให้ประสานเชื่อมโยงแผนลงทุน และแผนปฏิบัติการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนการปฏิรูปด้านก๊าซธรรมชาติจะต้องจัดหาก๊าซฯ ให้มีความต่อเนื่องไม่เกิดการหยุดชะงักทั้งแหล่งอ่าวไทย และแหล่งอื่น ๆ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ
คณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงนำความเห็นจากทุกภาคส่วนนำไปปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ฉบับที่ 2 Big Rock ให้สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบร่างแผนปฏิรูปประเทศประมาณเดือนพฤศจิกายน 2563 และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยประชาชนและผู้สนใจสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ได้ที่ Thaienergyreform2017@gmail.com หรือทางไปรษณีย์ถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน) เลขที่962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 รายละเอียดเพิ่มเติม http://nscr.nesdb.go.th ภายในวันที่ 6 กันยายน 2563 .- สำนักข่าวไทย