กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – ก.พลังงานวางแผนจ้างงานหลายหมื่นคน ล่าสุดจับมือ 3 สมาคมวิชาชีพ ยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ร่วมกับสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย และผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ โดยใช้มาตรการกำกับดูแลตามกฎหมายควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ทั้งด้านการศึกษาวิจัย พัฒนาต้นแบบ สาธิตนำร่อง การสนับสนุนองค์ความรู้กฎหมายพลังงานให้แก่บุคลากรของสถานประกอบการ การพัฒนาระบบตรวจสอบ และรวมถึงการแลกเปลี่ยน แบ่งปันข้อมูลทางวิชาการของแต่ละหน่วยงานเพื่อเชื่อมโยงสู่การเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้ต่อไปในอนาคต โดยมีโครงการ ที่ดำเนินการจนสำเร็จเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาระบบโซลาร์โดมอบแห้ง ระบบผลิตก๊าซชีวภาพระดับชุมชน การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ของสถานประกอบการ
นายโกมล บัวเกตุ รองอธิบดี พพ.กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติซึ่งจะช่วยการจ้างงาน ตามแผนงานของกระทรวงพลังงานที่คาดว่าจะมีการจ้างงานหลายหมื่นคนโดยวงเงินที่ว่าจ้างจะมาจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานปี 2564 และโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท โดยในส่วนหนึ่งตามแผนงานของ พพ.นั้นจะมีการจ้างงาน เพื่อสำรวจบัญชีครัวเรือนภาคประชาชน เพื่อนำมาจัดทำข้อมูลด้านภาพรวมของพลังงาน
นายโกมล กล่าวว่า เอ็มโอยูจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกายในความร่วมมือ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ที่มีความเข้มแข็ง ช่วยเพิ่มการจ้างงาน สร้างมาตรฐานการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์แสงสว่าง เพราะขณะนี้การติดตั้งไม่มีมาตรฐานในการดูแล ขณะเดียวกันความร่วมมือก็จะดูไปถึงการดูแลเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามกฏหมายกำหนดที่ให้อาคารสูงโรงพยาบาล โรงแรม ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยต้องมีการจดแจ้งต่อ พพ.ในกรณีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเกิน 200 KVA ซึ่งขณะนี้มัการจดแจ้ง พพ.เพียงกว่า 3,000 เครื่อง จากที่สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแจ้งว่าตามอาคารต่างมีการติดตั้งกว่า1หมื่นเครื่อง ซึ่งการร่วมดูแลก็จะทำให้เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลด้านพลังงาน.-สำนักข่าวไทย