กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – ขสมก.ยืนยันค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาท ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน พร้อมดึงรถร่วมเอกชนเข้าร่วม เพื่อให้เกิดโครงข่ายการเดินรถค่าโดยสารเดียวกัน
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. กล่าวยอมรับว่า พอใจผลสำรวจของโพลล์หลายสำนักที่ความเห็นของประชาชนตอบรับสนับสนุนแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย 30 บาท/วัน โดยสารรถกี่เที่ยวก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางจัดเก็บค่าโดยสารที่บรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดค่าครองชีพในภาพรวมแก่ประชาชนได้จริง
นายสุระชัย ย้ำว่าปัจจุบันค่าโดยสารรถปรับอากาศที่เริ่มต้นตั้งแต่ 13 บาทถึง 26 บาท เมื่อนำมาเฉลี่ยการเดินทางขาไปและกลับต่อวัน พบว่าประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางเหนื่อยมาก ส่วนประชาชนส่วนหนึ่งเคยชินกับการใช้บริการรถเมล์โดยสารลักษณะขาเดียว และเกรงว่าการจ่ายค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย 30 บาท จะเป็นภาระนั้น การวางระบบจะจัดเก็บขาเดียว 15 บาทต่อเที่ยว โดยจะหักจากบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-ticket เพื่อรองรับการใช้บริการของผู้โดยสารกลุ่มนี้
ส่วนประเด็นสวนสุนันทาโพลล์ระบุต้องการให้รถร่วมบริการเอกชนเข้าร่วมโครงการและจัดเก็บค่าโดยสารอัตราเดียวกัน ผู้อำนวยการ ขสมก.ระบุว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการมีเป้าหมายที่จะว่าจ้างเอกชนเดินรถ เพื่อให้เกิดโครงข่าย ขสมก. 108 เส้นทาง และเอกชนอีก 54 เส้นทาง เพื่อให้มีการจัดเก็บค่าโดยสารอัตราเดียวกัน เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ
สำหรับการแก้ไขปัญหาภาระหนี้และขาดทุนสะสมกว่า120,000 ล้านบาทนั้น นายสุรชัย ระบุว่า ข้อเท็จจริงตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีการนำงบประมาณก้อนใหญ่ไปชำระหนี้ทันที โดยภาระหนี้ที่เกิดจากเงินกู้ในอดีตจะเริ่มทยอยชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครบกำหนด และเมื่อแนวโน้มผลประกอบการดีขึ้น กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA เริ่มกลับมามีทิศทางเป็นบวก ภาครัฐจึงสามารถทยอยชำระหนี้เงินต้น โดยกระบวนการชำระหนี้คืนกว่า 100,000 ล้านบาท จะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 ปี โดยยืนยันว่าเมื่อมีการชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้และเงินต้นต่อเนื่อง องค์กรมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ก็จะทำให้ภาระหนี้-ขาดทุนสะสมค่อย ๆ ลดลง ทำให้การดำเนินงานของ ขสมก.ไม่เป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต.-สำนักข่าวไทย