กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – ไทยแพนผนึกไบโอไทยยื่นศาลปกครอง คัดค้านบริษัทสารเคมีข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ขอเพิกถอนประกาศแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ด้าน “มนัญญา” ลั่นเกษตรกรที่เดือดร้อนจากการยกเลิก 2 สาร มาแจ้งโดยตรงได้ แต่เดินทางตรวจราชการทั่วประเทศ ไม่มีใครมาร้องสักรายเดียว
นางสาวปรกชน อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถีตัวแทนไทยแพน ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มนักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มเกษตรกรยื่นร้องสอดคดีที่บริษัท ซินเจนทาฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศแบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยคดีนี้ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม รับคำร้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.12/2563 ผู้ฟ้องคดี คือ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ส่วนผู้ถูกฟ้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถีจึงขอยื่นเป็นผู้ร้องสอด เพื่อจะนำเสนอข้อมูลผลกระทบสารเคมีทั้ง 2 ชนิด โดยหวังศาลคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยเกษตรกร-ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
นางสาวปรกชน กล่าวถึงที่มาของการฟ้องคดีนี้ว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 กำหนดให้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมานั้น ปรากฏว่า บริษัท ซินเจนทา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ สำนักงานใหญ่อยู่สวิตเซอร์แลนด์ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวม 5 รายต่อศาลปกครองกลาง โดยมีคำขอให้ศาลเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 และคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 750/2563 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะมีผลให้สามารถมีการนำเข้าและจำหน่ายสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสได้
นางสาวปรกชน ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทซินเจนทาห้ามใช้พาราควอตมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังผลิตส่งขายในประเทศต่าง ๆ ไทยแพนเห็นว่าการออกประกาศแบนสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการความเป็นอันตรายร้ายแรงและผลกระทบจากการใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิด ตรงตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 แล้ว คือ “เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันและ ระงับอันตรายที่อาจมีแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม” ทั้งนี้ หลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข สภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน และแพทยสภามีความเห็นข้อเสนอตรงกันให้แบนสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส ดังนั้น ไทยแพนจึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิ์ร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ในคดีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมจากที่หน่วยงานราชการชี้แจงต่อศาลปกครอง เพื่อให้ผลคำพิพากษานำไปสู่การคุ้มครองสิทธิ์ตาม รัฐธรรมนูญของประชาชน ผู้บริโภค เกษตรกร และปกป้องประโยชน์ของสาธารณะและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือต่อเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้ทบทวนการแบนพาราควอต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช ว่า ทางกฎหมายนั้น ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลปฏิบัติแล้ว อีกทั้งยังมีคำสั่งของกรมวิชาการเกษตรที่ให้เกษตรกรต้องส่งมอบคืนวัตถุอันตรายแก่ผู้ขายที่ตนซื้อมาให้แล้ว ไม่เกินวันที่ 29 สิงหาคม ผู้ขายต้องรวบรวมวัตถุอันตรายส่งมอบผู้ผลิตและผู้นำเข้า พร้อมแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ไม่เกินวันที่ 28 กันยายน และผู้ผลิตหรือนำเข้าวัตถุอันตรายต้องรวบรวมวัตถุอันตรายที่รับมอบพร้อมวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองเพื่อแจ้งปริมาณแก่เจ้าหน้าที่ไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมแจ้งแผนเก็บรักษา กำหนดเวลา วิธีการและสถานที่ทำลายที่ปลอดภัย เมื่อดำเนินการทำลายแล้ว ให้ส่งผลการทำลายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
“เดินทางตรวจราชการทั่วประเทศ ยังไม่มีเกษตรกรมาร้องว่าได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสารเคมีทั้ง 2 ชนิด มีแต่บอกว่า ยกเลิกนั้นดีแล้ว แต่หากมีเกษตรกรที่เดือดร้อนจริงสามารถมาแจ้งหรือยื่นหนังสือได้ตลอดเวลา ในฐานะที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรและเป็นผู้ผลักดันให้ยกเลิกใช้สารเคมีอันตรายตั้งแต่ต้น พร้อมรับฟังและชี้แจงแนวทางช่วยเหลือที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ ขอย้ำว่าผู้ที่อ้างว่าเดือดร้อนต้องเป็นเกษตรกร ไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพอื่นหรือหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้อง” นางสาวมนัญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย