กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุน้ำเหนือทยอยไหลลงภาคกลาง สั่งยกระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ทดน้ำส่งเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งแม่น้ำ ให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปีปลูกข้าวได้แล้ว
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ (7 ส.ค.) อยู่ที่ +13.58 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) โดยยังคงมีน้ำเหนือในแม่น้ำน่านไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง จากท้ายเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ผ่านพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ตามลำดับ ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท คาดว่า 1-2 วัน ระดับน้ำหน้าเขื่อนจะสูงถึง +14.00 เมตร รทก. ซึ่งน้ำจะไหลย้อนเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือเขื่อนได้ ทั้งนี้ จะรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนไม่ให้ต่ำกว่า +14.00 เมตร รทก. เพื่อให้เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปี มีน้ำสำหรับเพาะปลูก ส่วนที่ปลูกแล้วจะมีน้ำสำหรับเลี้ยงต้นข้าว
สำหรับแผนเพาะปลูกข้าวนาปีลุ่มเจ้าพระยาปี 2563 กำหนดไว้ 8.1 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 3.91 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 48 ของแผน เหลืออีก 4.19 ล้านไร่ที่รอฝน เนื่องจากปีนี้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำน้อยไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรกรได้ จึงแนะนำให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ดังนั้น เมื่อมีฝนจากอิทธิพลของพายุซินลากู ทำให้ฝนตกชุกในลุ่มน้ำน่าน จึงบริหารจัดการโดยเก็บน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ไว้ให้มากที่สุด ส่วนน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกท้ายเขื่อนไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อไหลลงสู่ภาคกลาง จึงกำหนดแผนบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรที่ต้องการน้ำอยู่ในขณะนี้ โดยชาวนายังเพาะปลูกข้าวได้จนถึงกลางเดือนสิงหาคม เพื่อเก็บเกี่ยวประมาณต้นเดือนธันวาคมตามฤดูกาล
นายทองเปลว กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า เหลือเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งน้ำในลำน้ำยังเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านผักตบ ต.คำวิลัย 300 ไร่ และบ้านนาทม ต.ภูเงิน 300 ไร่ รวม 600 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าประมาณ 2 – 3 วัน จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยสำนักงานชลประทานที่ 7 จะเปิดบานระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำเขื่อนยโสธรและเขื่อนธาตุน้อยไว้รองรับน้ำที่จะไหลมาสมทบจากน้ำตอนบน จากนั้นจะผันเข้าไปเก็บกักไว้ตามแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ยังคงให้สำนักงานโครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลอดเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกตลอดทั้งเดือน จึงต้องเฝ้าระวังทุกพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือและเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติงานบริหารจัดการน้ำและช่วยเหลือประชาชนตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย