กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – หอการค้าไทยเผยดัชนี ModernTrade ไตรมาส 2 ลงแตะ 46.4 เหตุโควิดยอดขายลดเชื่อต่ำสุดแล้วและเริ่มจะดีขึ้น แนะรัฐเร่งหามาตรการต่างๆเช่น กินช็อปใช้อัด
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2563 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.1 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าดัชนีได้ปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป แต่ยังคงให้ความระมัดระวังในเรื่องของการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจของประเทศ กำลังซื้อของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงนั้น นอกจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยมาจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการออกจากบ้านน้อยลงและซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น การส่งออกที่ลดลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งมีผลโดยตรงกับกำลังซื้อทำให้ยอดขายสินค้าของ Modern Trade ลดลง
ทั้งนี้ ทางภาคเอกชนได้เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา คือ 1.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องการเงินโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจ SME ลูกค้ารายย่อย ผ่านกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย ‘ช็อป ช่วย ชาติ’ นาไปลดภาษีเงินได้ เพดานไม่เกิน 50,000 บาท โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เม็ดเงินเข้าไปอัดฉีด เพราะเป็นมาตรการลดหย่อนภาษี ซึ่งแนวทางนี้อยู่ที่รัฐบาลจะพิจารณาระยะเวลาเท่าไหร่ก็ได้ แต่เห็นว่าถ้าจะนำมาใช้ควรเป็นช่วงปลายไตรมาส 3 หรือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ก็ได้
3.มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น ฝึกอาชีพ ให้กู้เงินเพื่อลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6-12 เดือน 4.มาตรการทางภาษี เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มหากมีการลงทุน
5.เร่งคืนเงินประกันสังคมสาหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และขยายการสนับสนุนการจ่ายเงินให้ผู้ประกันสังคมจนถึง สิ้นปี 2563 และ 6.เร่งแก้ไขปัญหาการจัดการโควิดให้ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะด้านนโยบายหรือมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ Modern Trade โดย1. การเพิ่มค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีเป็น 2 เท่า หากมีการซื้อทรัพย์สินเพื่อการลงทุน 2. ส่งเสริมธุรกิจรถเร่ ให้มีมาตรฐาน 3.การส่งเสริมการจ้างงานรายชั่วโมงกับผู้ว่างงาน ซึ่งแนวทางนี้ แม้ว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายแรงงาน เนื่องจากกฎหมายแรงงานไทยกำหนดจ้างงานเป็นรายวัน หากจะจ้างรายชั่วโมงถือว่าผิดกฎหมาย ที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายตรงนี้ก่อน ซึ่งภาคเอกชนในกลุ่มนี้พร้อมที่จะจ้างแรงงานแบบรายชั่วโมงไม่ต่ำกว่า 5,000 อัตราทันที จึงต้องฝากภาครัฐช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย และ4. การโปรโมทการจัดแสดงสินค้าระดับท้องถิ่นให้มากขึ้นหลังจากนี้
นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางภาคเอกชน มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์การว่างงานของประชาชนเวลานี้ โดย อยากให้ รัฐบาลเร่งเดินหน้าในเรื่องของการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่เพื่อที่จะมาขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาการว่างงานของประชาชน โดยทางภาคเอกชนอยากเห็นการแก้ไขกฎหมายแรงงาน ให้ภาคธุรกิจสามารถจ้างแรงงานรายชั่วโมงได้ จากปัจจุบันการจ้างงานของประเทศไทยเป็นการจ้างงานรายวัน เพื่อที่จะช่วยกันประคับประคองธุรกิจ สอดคล้องกับความต้องการของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องการทำงานรายชั่วโมง โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนของผู้ประกอบการประเภทห้างค้าปลีก หรือ ภาคบริการต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกจ้างมีงานทำ ลดความเสี่ยงของการปลดคนงานลง
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการ Modern Trade เวลานี้ มีความต้องการลูกจ้างรายชั่วโมง มากกว่า 5,000 อัตรา แต่ไม่สามารถจ้างงานได้เนื่องจากติดข้อกฎหมาย หากสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้จะถือเป็นการเปิดโอกาสให้ตลาดแรงงานของไทยมีความเสี่ยงตกงานน้อยลง ทางเอกชนจึงต้องการให้รัฐบาลมีการผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงสามารถประคองตัวอยู่ได้ และเดินหน้าได้ทันทีเมื่อมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม . – สำนักข่าวไทย