กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. –ตลาดเงินตลาดทุนสัปดาห์หน้า ยังจับจ้องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและคู่ค้า
กสิกรไทยคาด ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700
จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,725 และ 1,735 จุด ตามลำดับ
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทขยับอ่อนค่าลงกว่าระดับ
32.00
บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้น–กลางสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางของหลายๆ
สกุลเงินในภูมิภาค และแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ
ได้รับแรงหนุน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร
ซึ่งถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองของอิตาลี
อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถฟื้นตัวกลับมาบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์
สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ
เผชิญแรงขาย หลังปัญหาทางการเมืองของอิตาลีเริ่มคลี่คลาย และตลาดเปลี่ยนจุดสนใจมาที่ข้อพิพาททางการค้าของสหรัฐฯ
และกับประเทศคู่ค้า โดยในวันศุกร์
(1 มิ.ย.)
เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.98 เทียบกับ 31.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 พ.ค.)
ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดย
SET
ปิดที่ระดับ 1,719.82 จุด ลดลง 1.23% จากสัปดาห์ก่อน
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มขึ้น
24.02% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 71,452.87 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 458.99 จุด ลดลง 2.04% จากสัปดาห์ก่อน
ดัชนีหุ้นไทยเผชิญกับแรงกดดันในหุ้นกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์
ประกอบกับมีแรงขายในหุ้นกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ดี
ดัชนี SET
มีแรงหนุนเข้ามาในช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์
หลังราคาน้ำมันโลกกลับมาฟื้นตัวขึ้น
แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยแรงกดดันเพิ่มเติมในช่วงปลายสัปดาห์จากปัจจัยต่างประเทศ
ท่ามกลางความกังวลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติ
ก็ยังคงขายสุทธิอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4 – 8 มิ.ย.)
ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.80-32.20
บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า
ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700
จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,725 และ 1,735 จุด ตามลำดับ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่สถานการณ์เกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ
และประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM
ภาคบริการเดือนพ.ค. และคำสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานเดือนเม.ย.
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่
ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ค. ของจีน และดัชนี ISM ภาคบริการเดือนพ.ค. ของประเทศชั้นนำอื่นๆ–สำนักข่าวไทย