กรุงเทพฯ 14 ก.ค.-“พาณิชย์” ถกทุกภาคส่วน รับมือปัญหาชายแดน ย้ำยังส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคได้ หนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จัดคาราวานลดค่าครองชีพ ชี้ราคาสินค้าฝั่งกัมพูชาเริ่มขยับขึ้น แต่ไทยยังคุมสถานการณ์ได้ มั่นใจไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและเกษตรกรจากสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โดยมีนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยภาคเอกชน พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ทูตพาณิชย์ ณ กรุงพนมเปญ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายจตุพร เปิดเผยว่า จากข้อจำกัดในการผ่านเข้าออกจุดผ่านแดนไทย–กัมพูชาในขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะกลางเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยเร่งเชื่อมโยงสินค้ากลับเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ เปิดจุดจำหน่ายสินค้า ส่งเสริมการบริโภคในประเทศตามนโยบาย “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย” รวมถึงการบริหารจัดการผลไม้ภายในประเทศ เช่น การเชื่อมโยงการรับซื้อโดยหน่วยงานต่าง ๆ และรณรงค์การบริโภคผลไม้ ซึ่งช่วยให้สถานการณ์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ในด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับสถาบันการเงิน เช่น SME D Bank และธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาวให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้สั่งการให้เตรียมแผนบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดชายแดน 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี ตราด สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ รวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุดและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของการขนส่งสินค้าไปยังกัมพูชาและการขนส่งผ่านแดนที่ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทาง ได้มอบหมายกรมการค้าต่างประเทศหารือร่วมกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุน ขณะเดียวกันให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าโปรโมตสินค้าไทยในกัมพูชา พร้อมเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายกรมการค้าภายในจัดคาราวานธงฟ้าราคาประหยัดในพื้นที่ชายแดน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงที่มีข้อจำกัดด้านการค้าข้ามแดน
ด้านนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงจะจัดกลุ่มผู้ประกอบการตามลักษณะสินค้าและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์และต้องการเงินทุนเพิ่มเติม โดยเตรียมประสานกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อร่วมสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ส่งออก
ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ รายงานสถานการณ์ล่าสุดว่า แม้ฝั่งกัมพูชาจะมีการระงับการนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น น้ำมัน พืชผัก และผลไม้ แต่สินค้าจำเป็นอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคยังสามารถส่งออกได้ โดยเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งเป็นทางเรือ หรือใช้เส้นทางทางบกสายอื่นแทน
อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในฝั่งกัมพูชาบางรายการเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และข้อจำกัดของสินค้าในบางช่วงเวลา กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายจตุพร ย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อสถานการณ์ และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย จะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ชายแดนได้โดยไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจการค้าของไทย ซึ่งยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปี 2567 การค้ารวมระหว่างไทย-กัมพูชา มีมูลค่ารวม 366,730 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 174,530 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 การค้าระหว่างทั้งสองประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่องถึง 8.5% และการค้าชายแดนขยายตัวถึง 11.2%.-512.-สำนักข่าวไทย