กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – เวที KTC FIT Talk ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ “สร้างภูมิ-ปลดล็อกภาระการเงินและปัญหาสุขภาพ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ” เคทีซีเผยยอดใช้จ่ายด้านสุขภาพผ่านบัตรเพิ่มกว่าร้อยละ 50 หลังโควิด ขณะที่หลายหน่วยงานกำหนดแผนการตลาดด้านสุขภาพและการเงินมากขึ้น
นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต หมวดสุขภาพและความงาม “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต หลังช่วงโควิด-19 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีในหมวดสุขภาพ และจำนวนสมาชิกที่ใช้บัตร เติบโตกว่าร้อยละ 50 ซึ่งปี 2568 เคทีซีวางกลยุทธ์ขยายพันธมิตรสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้เห็นสิทธิพิเศษจากเคทีซี รวมถึงกลุ่ม Wellness Lifestyle เพื่อตอบรับผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 20-29 ปี มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ทั้งในกลุ่มโรงพยาบาล สปอร์ตและฟิตเนส สะท้อนว่า คนหันมาสนใจดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย
นพ.นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและการกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า โรงพยาบาลสมิติเวช เน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ ด้วย Samitivej Wearable Clinic บริการปรึกษาข้อมูลสุขภาพจาก Smartwatch และ Smart Ring ที่ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ผ่านแอปพลิเคชัน Well by Samitivej เพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้น (Pre-Screening) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งข้อมูลที่ได้ เป็นดัชนีสำคัญที่ช่วยให้แพทย์เข้าใจสุขภาพผู้ป่วยได้ดีขึ้น เช่น การเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งอนาคต Smartwatch จะเป็นอุปกรณ์ดูแลสุขภาพประจำตัว ข้อมูลจะถูกนำมาใช้กับระบบ Telemedicine เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคลแบบเรียลไทม์
นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ, CFA ผู้อำนวยการ – การเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของคนไทยยังไม่มีแผนเกษียณที่ชัดเจน มีภาระหนี้ และสิ่งที่หลายคนอาจมองข้าม คือ การมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลรักษา ท่ามกลางความไม่แน่นอน ผู้บริโภคและสมาชิกเคทีซี จึงจำเป็นต้องวางแผนด้านการเงินและสุขภาพอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น
สำหรับวัยทำงานควรเริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตั้งเป้าหมายทางการเงินตามสูตร 50-30-20 หรือ 60-20-20 มีเงินสำรองฉุกเฉิน และลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงฝึกวินัยทางการเงินผ่านระบบออมอัตโนมัติ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และทบทวนแผนทุก 6 เดือน
สำหรับทางเลือกเพื่อพิจารณาในการลงทุนเพื่อการออม รับมือเศรษฐกิจปี 2568 ในกลุ่มหุ้น ควรเน้นกลุ่มสาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคและสุขภาพ หรือเลือกลงทุนในหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ที่มีตลาดกระจายหลายประเทศ เน้นหุ้นบริโภคในประเทศที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ลดหุ้นส่งออกไปสหรัฐ ตราสารหนี้ เพิ่มน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว เลี่ยงตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ และลดการถือพันธบัตรอิงเงินเฟ้อจากแนวโน้มเงินเฟ้อต่ำ ส่วนทองคำ สามารถค่อยๆ เพิ่มการลงทุนระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยง แนะนำถือทองในรูปแบบ USD รับมือค่าเงินบาทผันผวน หรือเข้าซื้อแบบทยอย เพื่อเฉลี่ยต้นทุน.-111-สำนักข่าวไทย