กรุงเทพฯ 20 พ.ค.- หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และหอการค้าประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) จัดงาน Thailand – U.S. Trade & Investment Summit 2025 : Building on a Longstanding Partnership แลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา พร้อมหารือโอกาสและความท้าทายในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีศักยภาพระหว่างกัน มีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ระบุไทย-สหรัฐฯ จำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือ ยืนยันรัฐบาลไทยมุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และสมดุลในระยะยาว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในกรอบความร่วมมือที่มีเป้าหมาย “ลดความไม่สมดุลทางการค้า” คาดจะช่วยลดการขาดดุลการค้ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมชวนนักลงทุนสหรัฐฯ สำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลฝั่งตะวันตกและตอนใต้ของไทย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 192 ปี รวมทั้งบทบาทของ “Team Thailand Plus” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนไทยในการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยในงานครั้งนี้ยังมีการจัดเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ทั้งด้านการค้าภาคเกษตรและนวัตกรรมอาหาร ความริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม การค้าและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว โดยมีผู้แทนจากภาคธุรกิจของไทยและสหรัฐฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง


“ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถรับมือกับความท้าทายและก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง” นายพจน์ กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวว่า เมื่อโลกเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ ไทย-สหรัฐฯ ต้องร่วมกัน “ออกแบบอนาคต” ที่จะก้าวไปด้วยกัน เรากำลังพบกันในช่วงเวลาที่ระเบียบโลกเผชิญกับความตึงเครียดอย่างหนัก ระบบระหว่างประเทศที่เราเคยช่วยกันสร้าง อิงกับการค้าเสรี พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ และความร่วมมือพหุภาคีกำลังถูกทดสอบด้วยความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงกำหนดทิศทางของกระแสเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยูเครน และเมียนมา ยังคงดำเนินต่อ เทคโนโลยีใหม่อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังขยายขอบเขตแห่งความเป็นไปได้ พร้อมตั้งคำถามด้านจริยธรรมและภูมิรัฐศาสตร์ ในบริบทเช่นนี้ประเทศไทยซึ่งมีทำเลเชิงยุทธศาสตร์ มีความคล่องตัวทางการทูต และเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ สามารถทำหน้าที่ “ไม่ใช่แค่ผู้สังเกตการณ์” แต่เป็น “ผู้สร้างสะพาน” ที่เชื่อมโยงและสร้างเสถียรภาพในโลกที่ไม่แน่นอนนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ยังเสนอไทย-สหรัฐฯ ขยายความร่วมมือ 4 ด้านดังนี้
- พลังงานสีเขียวและการเติบโตอย่างยั่งยืน
- ความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ
- การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและ AI
- การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการศึกษา
พร้อมเสนอร่วมกันจัดตั้งเวที U.S.–Thailand Strategic Economic Dialogue for the Next Decade แพลตฟอร์มที่จะเชื่อมโยงรัฐบาล ภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา เพื่อวางวิสัยทัศน์ระยะ 10 ปีร่วมกัน โดยเน้นประเด็นหลัก 5 ด้าน ประกอบด้วย
- Resilience (ความยืดหยุ่น) – สร้างห่วงโซ่อุปทานที่ต้านทานวิกฤต และพัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมกับโลกที่เปลี่ยนเร็ว
- Innovation (นวัตกรรม) – ร่วมกันพัฒนาโซลูชันในด้านพลังงาน อาหาร สุขภาพ และ AI
- Inclusion (การมีส่วนร่วม) – ทำให้ความมั่งคั่งกระจายอย่างทั่วถึงทั้งภาคส่วนและรุ่นคน พร้อมส่งเสริมการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- Trust (ความไว้วางใจ) – วางรากฐานของความร่วมมือทั้งหมดบนคุณค่าร่วมกันและความโปร่งใส
- Connectivity (การเชื่อมโยง) – สร้างทีมพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายนโยบายของทั้งสองประเทศ. -517-สำนักข่าวไทย