16 พ.ค. – PEA ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop ให้โรงพยาบาลลำปาง ลดค่าไฟฟ้าได้ 3 ล้านบาท/ปี
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และเปิด EV Charging Station โดยมีนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวรายงาน และนายวรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปาง กล่าวต้อนรับ ณ โรงพยาบาลลำปาง
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดำเนินการจัดการพลังงานแบบครบวงจร รูปแบบ ESCO Model ช่วยลดค่าไฟฟ้า เสริมความมั่นคงทางพลังงานของภาครัฐ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้กับภาครัฐ โดย PEA ดำเนินโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในโรงพยาบาลลำปางแบบครบวงจร ประกอบด้วยการดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงาน กำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน สำรวจ ออกแบบ ติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบ ตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้ดำเนินการดูแลรักษาตามกรอบเวลาที่เหมาะสม โรงพยาบาลลำปาง ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณลงทุนจัดหาอุปกรณ์ แต่ PEA จะเป็นผู้ดำเนินการให้บริการจัดการพลังงานและเรียกเก็บค่าบริการจัดการพลังงานจากระบบ Solar Rooftop ในแต่ละเดือน ซึ่งโรงพยาบาลลำปาง เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการกับ PEA และถือเป็นโรงพยาบาลต้นแบบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะได้มีการขยายผลต่อไป



PEA ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2.614 เมกะวัตต์ ทั้ง 20 อาคาร โดยใช้พื้นที่หลังคาอาคารของโรงพยาบาลลำปาง พร้อมติดตั้งระบบตรวจวัดการใช้พลังงานของโรงพยาบาล สามารถติดตามผลการผลิตไฟฟ้า หรือ Monitoring System ที่จะช่วยให้ติดตามและอ่านค่าหน่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop ได้แบบ Realtime ทำให้โรงพยาบาลสามารถกำหนดนโยบายและเป้าหมายการลดใช้ไฟฟ้าได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 ซึ่งโรงพยาบาลลำปาง จะได้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากระบบ Solar Rooftop เฉลี่ยเดือนละ 300,000 หน่วย ลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 3,000,000 บาทต่อปี และสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2,064 ตันคาร์บอนต่อปี
นอกจากนี้ PEA ดำเนินการติดตั้งและให้บริการสถานี EV Charging Station ของโรงพยาบาลลำปาง ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าให้บริการ EV charger สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทการชาร์จแบบ DC ขนาด 160 kW และ 20 kW ผ่าน Application PEA Volta มีอัตราค่าให้บริการอยู่ที่ 8 บาท/หน่วย เสริมความมั่นคงทางพลังงานของภายในโรงพยาบาล. – สำนักข่าวไทย