กรุงเทพฯ 14 พ.ค. – ธปท.ย้ำจำเป็นต้องเก็บกระสุนไว้ใช้เพื่อรับความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ไม่แน่นอนสูงในอนาคต โดยเงินเฟ้อทั่วไปแม้ต่ำตามราคาพลังงาน แต่ไม่เป็นภาวะเงินฝืด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Monetary Policy Forum 1/2568 นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า สงครามการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ซึ่งการใช้นโยบายการเงินดูแลนั้ย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดมองว่าโลกข้างหน้ามีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง อาจมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้นโยบายช่วงนั้นดีจะดีกว่า ส่วนอีกด้านการลดดอกเบี้ยขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว ภายใต้บริบทความไม่แน่นอนสูง ผลของการลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ส่งถึงแรงกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก หากดูประเทศอื่นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ แรงกระตุ้นจากการลดดอกเบี้ยจะน้อยลง และการส่งผ่านจะลดลง ซึ่งการเก็บ “Policy Space” เก็บไว้เพื่อใช้รองรับโลกในระยะข้างหน้าที่มีความเสี่ยงหลากหลาย และอาจมีความจำเป็นต้องใช้กระสุนช่วงนั้นน่าจะดีกว่า
“ Room ที่เหลือไม่มากนัก ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% แรงกระตุ้นเพิ่มเติมจะลดลง และยังต้องเก็บกระสุนไว้เพื่อใช้ในระยะข้างหน้า เพราะยังมีความไม่แน่นอนมาก อย่างการลงทุน เมื่อลดดอกเบี้ยไป แต่ยังมีความไม่แน่นอน คนก็ไม่กล้าลงทุน คนก็ยังไม่กล้าจับจ่าย ผลหรือประสิทธิภาพนโยบายการเงินอาจจะได้ไม่มาก”นายปิติ กล่าว
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีแนวโน้มที่ปรับลดลง จากภาคต่างประเทศเป็นหลัก และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการค้าที่ยังไม่สามารถคาดเดาตอนจบได้ อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐและจีนเจรจากันได้ และลดภาษีให้กันชั่วคราวนั้น เป็นพัฒนาการเชิงบวกทำให้ความตึงเครียดทางการค้าลดลง คาดจีนคงจะเร่งส่งออกมากขึ้นในช่วง 90 วันนี้ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบน้อยลง เรื่องของสินค้าที่จะไหลเข้ามาในไทย และสินค้าของจีนที่จะแข่งกับไทยในตลาดอื่น น่าจะบรรเทาลง เพราะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้
“ถ้าเทียบกับผลที่สหรัฐและจีนเจรจาและผ่อนผันเรื่องภาษีกันได้ชั่วคราว 90 วันนั้น มูลค่าที่มีต่อจีดีพีของไทยอาจจะไม่ได้มาก ประมาณ 0.1% เนื่องจากเป็นการลดภาษีชั่วคราว 1 ไตรมาส หลังจากนี้ต้องจับตาผลการเจรจาของไทยและทุกประเทศต่อเนื่อง” นางปราณี กล่าว
ในเบื้องต้น ประเมินผลกระทบแต่ละ sector ต่างกัน กลุ่มที่มีความกังวลมาก คือ กลุ่มที่เจอการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า (import flooding) เช่น เครื่องนุ่มห่ม และสิ่งทอ ซึ่งมีเอสเอ็มอีกว่า 1.2 แสนราย จ้างงาน 4.3 แสนคน เฟอร์นิเจอร์ มีเอสเอ็มอีกว่า 1.2 หมื่นราย จ้างงานกว่า 1.5 แสนราย เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะขนาดเล็กมีเอสเอ็มอี 5,000 ราย จ้างงาน 1.4 แสนคน ซึ่งจากการหารือกับเอสเอ็มอี ให้ความเห็นว่า ค่อนข้างอยู่ยาก และคาดหวังว่าจะมีความช่วยเหลือด้านการบังคับกฎหมาย ป้องกันการสวมสิทธิ์ และคาดหวังเรื่องการช่วยเงินทุนเพื่อปรับตัว การหาตลาดใหม่ เป็นต้น

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลของสงครามการค้าขณะนี้ยังไม่ชัด เบื้องต้นเห็นการลงทุนเห็นการชะลอตัว ประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และทอดยาวไปจนถึงปีหน้า โดย sector ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มส่งออก กระทบกลุ่มเอสเอ็มอีที่นำเข้า การผลิต โจทย์ในเชิงของนโยบาย คงต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้ภาคการผลิต ธุรกิจรวมถึงส่งออก จะต้องปรับตัวกับโลกใหม่
สำหรับศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential growth) ในปีนี้น่าจะต่ำกว่า 3% สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าขายของโลก ต้องปรับตัว และหากไม่ปรับตัวในระยะยาว จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรับลดลงได้ ผู้ประกอบการต้องเน้นลดต้นทุน ควบคู่การขยายตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มเพิ่มความสามารถการแข่งขั้นทั้งสินค้าส่งออกและสินค้าที่จะมีการไหลเข้ามา ในขณะที่การลงทุนที่แย่ลงในปีนี้ ยังมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปก็กระทบต่ออุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์
ด้านนักท่องเที่ยวยอมรับว่า เห็นภาพที่นักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยน้อยลง และอาจเป็นประเด็นระยะยาวจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย และทางการที่สนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ โดยตัวเลขประมาณการนักท่องเที่ยวมาไทยปีนี้ที่ 37.5 ล้านคน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า การเร่งตัวของการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัว ทั้งนี้ต้องรอติดตามตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อน โดยหากมองไปข้างหน้า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยไตรมาสต่อไตรมาส ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เพราะยังไม่เห็นการติดลบของเศรษฐกิจ
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่า ด้านเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐด้วย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ หรืออยู่ประมาณ 1.6% โดยการที่เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง ยังไม่ได้มีสัญญาณการหตัวของราคาสินค้าและบริการที่กระจายเป็นวงกว้างที่สะท้อนภาวะเงินฝืด
นายสุรัช กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อโดยรวมหดตัว ไม่ปรับดีขึ้น โดยสินเชื่อหดตัว -0.5% ทางด้านคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อเอสเอ็มอี และคุณภาพสินเชื่อบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี สินเชื่อและหนี้เสียขยายตัวสอดคล้องกับ Credit Risk ดังนั้น นโยบายการเงินปรับตัวสอดคล้องกับ outlook ระยะข้างหน้า และความเสี่ยงระยะข้างหน้า โดยนโยบายการเงินอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามระยะถัดไป คือ ผลของการเจรจา และติดตามระยะยาวเรื่องของการปรับตัวในทุกด้าน.-511-สำนักข่าวไทย