ระยอง 25 เม.ย. –โรงไฟฟ้าถ่านหิน “บีแอลซีพี” จ.ระยอง ศึกษาโครงการใช้ถ่านหินร่วมแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงลดก๊าซเรือนกระจก ย้ำท่ามกลางภาวะการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ช่วงหน้าร้อน พร้อมเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ทำหน้าที่เป็น Base Load รองรับดีมานด์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
บีแอลซีพีแจ้งว่า ประเทศไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเมื่อเวลา 20.47 น. ของวันที่ 22 เมษายน 2568 เกิดพีกไฟฟ้าครั้งที่ 3 ของปีที่ระดับ 34,130.1 เมกะวัตต์ จากระบบของทั้ง 3 การไฟฟ้า (กฟผ., กฟภ., กฟน.) แม้ยังไม่ถึงระดับพีกสูงสุดตลอดกาลของปี 2567 ที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ (2 พ.ค.67) แต่แนวโน้มการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนถึงภาระระบบไฟฟ้าที่สูงขึ้นในฤดูร้อนนี้
บีแอลซีพี ระบุเป็น Base Load ของระบบ มีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเสถียรภาพ และมีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับพีก ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และยังติดตั้งระบบควบคุมมลพิษที่ล้ำสมัย ทั้งเตาเผา Low NOx ระบบ ESP ดักจับฝุ่นละออง ระบบ FGD (Flue Gas Desulfurization) เพื่อลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ เผาไหม้ร่วมกับแอมโมเนีย เพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า และสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศในระยะยาว
“ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของบีแอลซีพีต่ำกว่า 2 บาทต่อหน่วย เรายังคงยืนหยัดในบทบาทของโรงไฟฟ้าฐานที่มั่นคง ไม่เพียงผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่องในยามจำเป็น แต่วางแผนสนับสนุนและมุ่งวางรากฐานให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดควบคู่ไปในอนาคตเพื่อรักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างสมดุลและมั่นคง”
ทั้งนี้ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย พ.ศ. 2567–2580 (PDP 2024) ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไทยมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าที่ประมาณ 55,947 เมกะวัตต์ และมีไฟฟ้าสำรองในระบบอยู่ที่ 25.5% (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ณ วันที่ 27 ธ.ค.2567) ระบบไฟฟ้าจึงยังคงมีเสถียรภาพรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง. -511-สำนักข่าวไทย