กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ( GC) เดินหน้าขยายศักยภาพโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ต่อยอด การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Chemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymers) มูลค่าสูง
นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า GC ไม่เพียงเป็นผู้ผลิต SAF รายแรกของประเทศ โดยเฟสแรก วางแผนผลิต SAF 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก และมีแผนขยายการผลิตเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ด้วยการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงโรงกลั่นที่มีอยู่เดิม ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่ และโครงการนี้ยังต่อยอดศักยภาพของ Biorefinery แห่งนี้ นอกเหนือจากการผลิต SAF ยังสามารถผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถทดแทนวัตถุดิบจากฟอสซิล ซึ่งในขณะนี้เริ่มผลิตแล้ว ตอบโจทย์ทั้งตลาด ความยั่งยืน และอนาคตของอุตสาหกรรม
โดยเป็นการพัฒนากระบวนการ Co-processing ที่สามารถใช้งานร่วมกับหน่วยกลั่นเดิมได้ นำน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Chemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymers) มูลค่าสูง โดยได้เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Bio-Propylene สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ พลาสติกแข็ง ของเล่นเด็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ Bio-BD (Bio-Butadiene) ใช้ในยางรถยนต์และรองเท้ากีฬา และ Bio-PTA (Bio-Purified Terephthalic Acid) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET
นอกจากนี้ GC ยังมีแผนต่อยอด Bio-Naphtha ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก Bio-PE (Bio-Polyethylene) สำหรับผลิตถุงพลาสติก ฟิล์ม และบรรจุภัณฑ์อาหาร และ Bio-MEG (Bio-Monoethylene Glycol) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET ในอนาคตอีกด้วย นับเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ประเทศไทยผลักดัน และเดินหน้าตามกลยุทธ์ขยายธุรกิจมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำของ GC .-511.-สำนักข่าวไทย