23 เม.ย. – ศาลาไทยหรือ Thai Pavillion ในงาน World Expo 2025 ที่นครโอซากา ภูมิภาคคันไซ ประเทศญี่ปุ่น มีคนเข้าแถวรอเข้าชมแน่นตลอดวัน ออแกไนเซอร์ยืนยัน จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ทำตามโจทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้เข้าชมเฉลี่ยวันละ 8,200 คน บ่งบอกถึงความสนใจที่มีต่อภูมิปัญญาด้านสุขภาพของไทย
วันพรุ่งนี้แล้ว ที่ศาลาไทย (Thailand Pavilion) ในงาน World Expo 2025 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด แต่ศาลาไทยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่งาน Expo เริ่มเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 โดยเข้าแถวยาวเหยียด รอเข้าชม เฉลี่ยแล้ว 8,200 คนต่อวัน จำนวนของผู้เข้าชมสวนทางกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนเกี่ยวกับความน่าสนใจและเนื้อหาที่นำเสนอ
นายอุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และผู้แทนกิจการร่วมค้า RMA110 ซึ่งเป็นออแกไนเซอร์ชี้แจงว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการครบ 3 รอบ รอบแรกมีบริษัทเข้าร่วมประมูล 3 ราย แต่ทั้งหมดไม่ผ่านคุณสมบัติด้านผลงานระดับนานาชาติ รอบที่สอง กิจการร่วมค้า RMA110 ชนะการประมูล แต่อีกบริษัทที่เข้าร่วมยื่นอุทธรณ์ ทำให้กระบวนการล่าช้าเกินระยะเวลายืนราคา 90 วัน จึงไม่สามารถลงนามสัญญาได้ รอบที่สามมีความจำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยเชิญ 3 บริษัทเดิมเข้าร่วมสืบราคา แต่มีเพียงกิจการร่วมค้า RMA110 ที่ยื่นเสนอราคา

นายอุปถัมภ์ ย้ำว่า กิจการร่วมค้า RMA110 เป็นการรวมตัวระหว่างบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และบริษัทสถาปนิก 110 จำกัด เพื่อผสานความเชี่ยวชาญด้านการจัดนิทรรศการและสถาปัตยกรรม ส่วนการจัดตั้งบริษัท “กิจการร่วมค้าอาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด” เป็นเพียงการบริหารงานภายในเพื่อรองรับงานโลจิสติกส์และพิธีการศุลกากร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประมูลหรือการทำสัญญา
ในส่วนของเนื้อหานิทรรศการ เสียงวิจารณ์จากบางกลุ่มว่าการจัดแสดงเนื้อหายังไม่สะท้อนภาพนวัตกรรมอนาคตตามธีมของงาน “Designing Future Society for Our Lives” เท่าที่ควร นายอุปถัมภ์ยอมรับว่า ทำตามโจทย์ของกรสนับสนุนการบริการสุขภาพซึ่งเน้นนำเสนอภูมิปัญญาไทย เช่น แพทย์แผนไทย สมุนไพร และการนวดแผนไทย มากกว่าการโชว์เทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากต้องการชูจุดแข็งของไทยในฐานะศูนย์กลางสุขภาพและเวลเนสของโลก
ก่อนหน้านี้ นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้แถลงว่า การจัดซื้อจัดจ้างศาลาไทยเป็นไป ตามระเบียบพัสดุของรัฐทุกประการ ทั้งนี้การใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในรอบที่สามเกิดจากความจำเป็นด้านเวลา และข้อกำหนดจากฝ่ายญี่ปุ่นที่ต้องการให้โครงการแล้วเสร็จภายในวันที่ 13 เมษายน 2568
นอกจากนี้ ยังชี้แจงว่า กิจการร่วมค้า RMA110 ที่ได้รับสัญญา เป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีชื่อคล้ายกันที่จดทะเบียนภายหลัง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า งบประมาณที่ใช้ ในการจัดทำศาลาไทย จำนวน 867.88 ล้านบาท เป็นการลงทุนเพื่อส่งเสริม ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านสุขภาพ และวัฒนธรรมบนเวทีโลก และคาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว. -512 - สำนักข่าวไทย