กรุงเทพฯ 27 ม.ค.-ปลัดกระทรวงพลังงาน กางแผนงานด้านพลังงานปี 68 เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเดินหน้าผลิตพลังงานสะอาด ลุ้นค่าไฟ 3.70 บาทต่อหน่วย ทำได้หรือไม่ รอ 2-3 เดือนได้ข้อสรุป
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ ”New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย ว่า ปี 2568 กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบาย โดยมุ่งเน้น “ประชาชนและประเทศ” เป็นสำคัญ โดยยึดหลักสำคัญ 3 ด้านประกอบด้วย ความมั่นคงทางพลังงาน พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ พลังงานคาร์บอนต่ำ โดยได้วางกรอบนโยบายสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1.การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล ส่วนประเด็นเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทยกับกัมพูชา (OCA) ซึ่งต้องหาแนวทางความร่วมมือให้เกิดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อนำทรัพยากากรปิโตรเลียมมาใช้ในอนาคต ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
2.บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR โดยจะต้องปรับปรุงกฏหมายสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและเสถียรภาพราคา ที่เชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีปริมาณสำรองน้ำมัน 90 วัน จากปัจจุบันเป็นการสำรองของเอกชนเป็นเวลา 21 วัน และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์
3.ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
4.เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5
5.สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ผ่านโครงการนำร่องที่แหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้จริงในปี 2571
“ประเทศไทยเตรียมเป็น ดิจิทัล ฮับ ของอาเซียน ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 47 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 173,000 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่โครงการเหล่านี้ต้องการคือ ไฟฟ้าสะอาด ซึ่งเป็นเทรนด์พลังงานโลก ดังนั้น ในแผน PDP ฉบับใหม่ จึงต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น และต้องเป็นราคาที่เหมาะสมด้วย โดยคาดการณ์ว่า แผน PDP ฉบับใหม่นี้จะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ ” นายประเสริฐกล่าว
ส่วนประเด็นข้อเสนอลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเหลือ 3.98 บาท/หน่วย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการหารือกับอัยการ ซึ่งการปรับลดค่า Adder และ FiT เป็นนโยบายที่ กกพ. เคยนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ส่วนที่มีข้อเสนอปรับรูปแบบ Adder ให้มาเป็นแบบ FiT คือ อัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ เรื่องนี้ต้องทำให้รอบคอบ ต้องตรวจสอบสัญญาว่ารัดกุมขนาดไหนไหน ส่วนลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย อยู่ระหว่างหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“คำถามที่ว่า ภายในปีนี้จะได้เห็นค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยหรือไม่นั้น ขณะนี้ได้มีการหารือถึงแนวทางบ้างแล้ว ทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่ทั้งนี้ก็จะต้องคุยกับหน่วยงานอื่นๆด้วย เพราะอาจจะมีเรื่องภี เรื่องการจัดเก็บรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อกดให้ตัวเลขต่ำลงได้ ซึ่งต้องดูว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยงานจะสามารถปรับตัวเลขลงได้เท่าไหร่ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก และไม่อยากให้โฟกัสที่ตัวเลข 3.70 บาทต่อหน่วย เพราะเมื่อได้ข้อสรุปแนวทาง อาจจะมีตัวเลขใหม่ออกมา แต่ทั้งนี้คาดว่าจะได้เห็นแนวทางภายใน 2-3 เดือนนี้ ส่วนจะทันค่าไฟรอบรอบที่ 2 (งวด พ.ค.-ส.ค.) หรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้” นายประเสริฐ กล่าว
ส่วนปี 2567 ยอมรับว่า เป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านราคาพลังงาน ซึ่งเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์ สงครามในต่างประเทศที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้งออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เช่น ตรึงราคาค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และ NGV รวมทั้งการปรับใช้ราคา Pool Gas การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ ทำให้ราคาพลังงานในประเทศอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลายๆ มาตรการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน.-517.-สำนักข่าวไทย