กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – บอร์ดสรรหายังไม่ได้ข้อสรุป รายชื่อประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ หลังมีกระแสคัดค้าน “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” หวั่นการเมืองแทรกความเป็นอิสระ
นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีวานนี้ (8 ต.ค.) ฝ่ายเลขานุการฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกระแสข่าวว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.คนใหม่ อย่างไรก็ตาม การเสนอชื่อครั้งนี้ 9 รายชื่อ เป็นการเสนอจากกระทรวงการคลัง 6 รายชื่อ และ ธปท. 3 รายชื่อ บุคคลอื่น ๆ เช่น นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน, นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วย 7 รายชื่อ ดังนี้ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์, วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, วรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์วานนี้ (8 ต.ค.) ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การที่ว่าจะมีการส่งนายกิตติรัตน์ เป็นประธานบอร์ด ธปท. คนใหม่แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการ ธปท. ที่ครบวาระในเดือน ก.ย.67 ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ในระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 กำหนดคุณสมบัติ ต้องห้าม ประธานบอร์ดแบงก์ชาติไว้ 8 ข้อ ได้แก่
(1) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของ พรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(6) เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นการดำรง ตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
(7) เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสีย อย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคล ซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท. ดังเช่น
(ก) นิติบุคคลที่เข้าเป็นคู่สัญญาทางธุรกิจ หรือกำลังจะเป็นคู่สัญญาทางธุรกิจ กับ ธปท. อันมีลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท.
(ข) นิติบุคคลที่อยู่ภายได้การกำกับหรือตรวจสอบของ ธปท. เว้นแต่เป็น การดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
(8) เป็นคู่สัญญาหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการของ ธปท.อันมี ลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท. โดยให้ใช้บังคับกับคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อด้วย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ในเฟซบุ๊ก ระบุในขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการคัดเลือกประธาน ธปท.เท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจได้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อ ธปท.ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธาน ธปท. เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
อันที่จริง กฎหมายของ ธปท.ก็ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฎหมายจึงได้กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญๆของธปท.ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่เข้าใจบทบาทของธนาคารกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการคัดเลือกในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ
นอกจากนี้ มีคณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องอย่านำการเมืองและอย่านำบุคคลที่มีหัวใจ ยึดโยงกับการเมืองเข้าแทรกแซงอำนาจหน้าที่แห่ง ธปท. -511-สำนักข่าวไทย