สำนักงาน ก.ล.ต. 24 ก.ย.-ตลท.-ก.ล.ต. ร่วมหาแนวทางเปิดเผยข้อมูลจำนำหุ้นนอกระบบ เพื่อออกเป็นกฎหมาย ปิดช่องว่างความเสี่ยงนักลงทุน หากหุ้นถูก Forced Sell
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวถึงการใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการชำระหนี้กู้ยืม มีการทำธุรกรรม 2 รูปแบบ
รูปแบบแรก คือ การส่งมอบหลักทรัพย์ให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันรูปแบบนี้ยังไม่ได้มีการโอนขาด ผู้ให้กู้ยังมีชื่อเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ โดยมี 2 ลักษณะ คือการกู้ยืมกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (Margin Loan) และการกู้ยืมหรือขอวงเงินกับ Credit Provider (Lender) หรือ การจำนำหุ้น ซึ่งมีทั้ง การบันทึกข้อมูลหลักประกันผ่านสมาชิก บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เช่น บล. และไม่บันทึกข้อมูลหลักประกันในระบบของ TSD ซึ่งผู้ให้กู้จะเป็นได้ทั้ง custodian ในประเทศและต่างประเทศ
รูปแบบที่สอง คือการโอน/ ขายหลักทรัพย์ให้ผู้ให้กู้ ที่เป็นการโอนขาด โดยมีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ แต่บางกรณีอาจเป็นการโอนขาด ที่ยังมีเงื่อนไขในการซื้อคืนได้
ปัจจุบันพบการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าในอดีต เช่น Margin Loan , การจำนำหุ้นที่ TSD มีการบันทึกข้อมูลการใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกัน ซึ่งเรียกว่าอยู่ในระบบ ส่วนรูปแบบอื่นที่มีการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันแล้วไม่ได้มีการจดแจ้งกับ TSD หรือ บล. อาจเรียกได้ว่าเป็นการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันที่อยู่นอกระบบ ทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีข้อมูล
ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการหารือเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลในส่วนนี้มากขึ้น ประกอบการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดกรณี ผู้ถือหุ้นที่นำหุ้นไปเป็นหลักประกันนอกระบบทำผิดสัญญา เมื่อราคาหุ้นลดลงต่ำต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นที่นำไปเป็นหลักประกันนอกระบบถูก Forced Sell หรือ การบังคับขายหลักทรัพย์ค้ำประกัน จนทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเสียหาย และ เกิดความเสี่ยงในการลงทุน
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ก.ล.ต ในฐานะโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า หลักการสำคัญคือเมื่อข้อมูลหลักทรัพย์ที่ถูกนำไปเป็นหลักประกันที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ทำอย่างไรให้ผู้ลงทุนได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ สำหรับกระบวนการที่จะนำไปสู่การออกกฏเกณฑ์ ต้องมีการหารือในรายละเอียดว่าจะต้องให้มีการรายงานเมื่อไหร่อย่างไร เนื่องจากการออกกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.จะกระทบต่อ ผู้ลงทุนในวงกว้าง จึงต้องมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้อย่างไรก็ตามจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดหวังจะได้เห็นหลักการภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความตระหนักให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บจ. และผู้บริหาร บจ. ให้มีความเข้าใจรู้ความเข้าใจในกระบวนการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันว่าควรคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาและเงื่อนไขในการทำสัญญา เพื่อป้องกันความเสียหายหรือข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้.-516.-สำนักข่าวไทย