กรุงเทพฯ 23 ก.ย. – เอกชนจี้ กนง.เร่งสร้างสมดุลค่าเงินบาท หลังเงินบาทแข็งค่าเร็วและต่อเนื่อง เผยผู้ส่งออกกังวลหนัก โดยเฉพาะรายเล็ก เช่น ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรขาดทุนแล้ว 10% หวั่นรายเล็กเจ๊งทั้งประเทศ-นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงินบาท ภายใน 3 เดือนเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 10% แข็งค่าแรงในรอบ 19 เดือน ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ จะพบว่าช่วงที่เงินอ่อนค่า เงินบาทอ่อนค่ากว่าประเทศอื่นๆ เรียกว่าอ่อนปวกเปียก แต่เมื่อแข็งค่าก็แข็งค่าขึ้นแรงมากกว่าคนอื่น ซึ่งก็เป็นปัญหาจากโครงสร้างของประเทศ ซึ่งต้องแก้ไขในระยะยาว หลังจากที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในอัตรา 0.50% ส่งผลให้เงินบาทยิ่งแข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ตอนนี้ต่ำกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ หากยังเป็นอยู่ในลักษณะนี้อาจจะได้เห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ แน่นอนว่าการที่บาทแข็งค่าแรงขนาดนี้ไม่ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย
ปีนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของเรา คือ การส่งออกวันนี้ถือว่าเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ในหลายหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ดอกเบี้ยที่แพงทำให้ต้นทุนการเงินสูง FTA ที่มีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ยิ่งช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งยิ่งทำให้ผู้ส่งออกของไทยแย่ สินค้าบางหมวดเงินหายไปแล้วหลายบาท เช่น หมวดอาหาร และสินค้าเกษตร ที่มีมาร์จิ้นไม่เท่าสินค้าอินโนเวชั่น วันนี้ขาดทุนแล้ว 10% ผู้ส่งออกจึงกังวล เนื่องจากสินค้าที่ส่งไปก่อนหน้าขาดทุน ทำให้มีการหารือกันว่าต้องมีการปรับราคาสินค้า แต่ขณะเดียวกัน หากปรับราคาสินค้าประเทศหรือบริษัทคู่ค้าก็อาจจะเปลี่ยนใจซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านแทน ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงขอวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วยทำให้ค่าเงินบาทมีความสมดุลในทุกด้าน ไม่แข็งไป ไม่อ่อนไป ทำให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้
“ภาคเอกชนคุยเรื่องจริง เรื่องที่เจอทุกวัน เป็นเรื่องความเป็นความตายของธุรกิจ จึงต้องดูทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว วันนี้ส่งออกรายเล็กเสียหาย SME ในซัพพลายเชนก็จะพังหมด ดังนั้นต้องรีบสร้างความสมดุลที่เหมาะสมกับสภาวะความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้ ไม่เฉพาะส่งออกภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ เมื่อค่าเงินแข็งเขาก็เที่ยวไม่สนุก เพราะเจอปัญหาของแพง แม้จะดีทุกอย่างแต่เจอของแพงก็ไม่สนุกหรอก ดังนั้นในภาพใหญ่ เราไม่ก้าวล่วง แต่ในภาพเล็กอยากให้ช่วยผู้ประกอบการเพื่อให้ฟื้นตัว และแข็งแรงมากขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว
ส่วนกรณีการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ นายเกรียงไกร กล่าวว่า ทาง ส.อ.ท. และ กกร. ยืนยันขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ละเอียด เพราะเคยพูดกันแล้วว่าขอให้เป็นไปตามกลไกคณะกรรมการอนุไตรภาคีทุกจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้มีตัวเลขออกมาแล้ว ซึ่งตัวเลขนี้สามรถยอทรับได้ทุกฝ่าย แม้นายจ้างต้องจ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังพอไปได้ ส่วนลูกจ้างก็พอสะดวกขึ้น
“เราเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้าง แต่ขอให้เป็นการจ่ายตามทักษะ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากร ยกระดับแรงงานไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศด้วย วันนี้ครึ่งหนึ่งของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้ยกระดับตัวเองเพื่อหนีค่าแรงงานขึ้นต่ำไปแล้ว ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ แม้จะจ่ายสูงก็ตาม ดังนั้น รัฐบาลควรทำ 2 อย่างไปพร้อมๆกันคือ การ upskill และ reskill แรงงานที่มีอยู่ ขณะนี้มีธุรกิจด้าน TCB มาลงทุนในไทยแล้ว 30 บริษัท และในอนาคตตะมีถึง 100 บริษัทแน่นอน ซึ่งสะท้อนว่า ในอนาคตมีความต้องการแรงงานที่ทีทักษะสูง ค่าแรงก็จะสูงด้วย” นายเกรียงไกร กล่าว. -517-สำนักข่าวไทย